April 30, 2018 SDN_Editorial

Telemedicine ที่ปรึกษาที่ดีที่สุดของ “ญาติผู้ป่วย”

การเจ็บป่วยของคนๆ หนึ่ง ไม่ได้หมายถึงการทุกข์ทรมานของคนเพียงคนเดียว แต่ยังรวมไปถึงคนรอบข้างผู้ป่วย หรือที่มักเรียกกันว่า ‘ญาติผู้ป่วย’ ด้วย 

นอกจากบุคลากรทางการแพทย์ที่ทำหน้าที่รักษาผู้ป่วยแล้ว ญาติผู้ป่วยก็ถือเป็นกำลังหลักสำคัญในการดูแลผู้ป่วยที่สำคัญไม่แพ้กัน การรักษาจะได้ผลอย่างดีที่สุดหรือไม่ ส่วนหนึ่งก็อยู่ที่การดูแลของญาติผู้ป่วย

 

การดูแลผู้ป่วยไม่ได้เป็นเพียงเรื่องเล็กน้อย โดยเฉพาะในผู้ป่วยเรื้อรัง หรือผู้ป่วยที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ญาติผู้ดูแลถือเป็นคนที่จะส่งเสริมสุขภาพและดูแลคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยในทุกด้าน นอกจากดูแลด้านกายภาพแล้ว ญาติผู้ดูแลต้องคอยสังเกตอาการผู้ป่วย ทั้งในกรณีที่ผู้ป่วยช่วยเหลือตัวเองได้และไม่ได้ เพื่อนำข้อมูลมาบอกแพทย์เพื่อทำการรักษา หรือในกรณีที่ผู้ป่วยไม่มีสติ ญาติจะต้องเป็นผู้ตัดสินใจการรักษาแทนผู้ป่วย 

ไม่เพียงเท่านั้น เมื่อร่างกายของผู้ป่วยได้รับความทรมาน ก็ทำให้สภาพจิตใจทรุดลงตามไปด้วย หรือเกิดการเปลี่ยนแปลงของอารมณ์จากภาวะเจ็บป่วย เช่น หงุดหงิด เอาแต่ใจ และไม่ให้ความร่วมมือ และก็เป็นหน้าที่ของญาติและผู้ใกล้ชิดที่ต้องคอยดูแลจิตใจ ให้กำลังใจ และรับมือการสภาวะอารมณ์ต่างๆ ของผู้ป่วย 

รวมไปถึงการดูแลผู้ป่วยจิตเวช หรือผู้ป่วยในโรคทางสมอง ที่มีความเปลี่ยนแปลงในความคิด ความทรงจำอย่างชัดเจน และส่งผลต่อพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปเช่นกัน

 

ถ้าญาติผู้ดูแลมีความพร้อมและสามารถดูแลตนเองได้ดี ย่อมส่งผลลัพธ์ที่ดีต่อผู้ป่วย ทำให้สามารถควบคุมอาการของโรค ลดการรักษาซ้ำในโรงพยาบาล และลดการเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ และในทางตรงกันข้าม หากญาติผู้ดูแลมีความเครียดหรือมีปัญหาด้านสุขภาพเสียเอง และไม่สามารถดูแลผู้ป่วยได้อย่างเต็มที่ อาจส่งผลให้ผู้ป่วยเกิดภาวะแทรกซ้อน และกลับเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลซ้ำ

การดูแลผู้ป่วยคนหนึ่งหมายถึงการใช้เวลาและพละกำลังทั้งหมดของผู้ดูแลไปกับผู้ป่วย โดยเฉพาะผู้ป่วยเรื้อรังหรือผู้ป่วยที่ดูแลตัวเองไม่ได้ ซึ่งเป็นงานที่ค่อนข้างหนัก ที่ไม่มีวันหยุด ไม่มีเวลาเป็นของตัวเอง และมักจะมีความกังวลในอาการของผู้ป่วยอยู่เสมอ และมักจะมีความทุกข์เมื่อไม่สามารถช่วยให้ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นได้

ผลการวิจัยพบว่าญาติผู้ดูแลมักมีอาการเหนื่อยล้า (fatigue) ไม่มีสมาธิ (lack of concentration) นอนหลับไม่เพียงพอ (sleep deprivation) การรับรู้คุณค่าในตนเองต่ำ (poor self-esteem) และต้องลดทอนบทบาททางสังคมลง (withdraw of family or friends) และยังพบอีกว่าญาติผู้ดูแลที่ไม่ได้รับการสนับสนุนทางสังคมมีโอกาสเกิดความเครียดเรื้อรัง หรือภาวะซึมเศร้าได้

จะเห็นได้ว่าญาติผู้ดูแลได้รับผลกระทบโดยตรงจากการดูแลผู้ป่วย เพราะฉะนั้นสุขภาพร่างกาย และจิตใจของญาติผู้ดูแลก็สำคัญไม่แพ้กัน ญาติผู้ดูแลจึงจำเป็นต้องรักษาสุขภาพของตัวเองให้แข็งแรงอยู่เสมอ เพื่อที่จะสามารถดูแลผู้ป่วยได้เต็มที่

นอกจากกำลังกายและกำลังใจจากญาติผู้ดูแลแล้ว จากการวิจัยพบว่าการเข้าถึงบุคลากรทางการแพทย์ ก็เป็นหนึ่งในความต้องการที่สำคัญของญาติผู้ดูแล

ปัญหาหนึ่งของการดูแลผู้ป่วยที่บ้านคือการตัดสินใจทางการแพทย์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่ดูเหมือนเล็กน้อย เช่น เรื่องอาหาร หรือเรื่องใหญ่อย่างการรับมือกับอาการที่แทรกซ้อนอย่างไม่คาดคิด

เมื่อไม่มีผู้ให้คำปรึกษา ทำให้บางครั้งญาติได้ตัดสินใจเลือกตัวเลือกที่ผิด หรือไม่ควร ทำให้ส่งผลเสียต่อการรักษา หรือครั้นจะไปปรึกษาหมอที่โรงพยาบาลก็ดูเป็นเรื่องที่ยุ่งยาก ซึ่งหากผู้ป่วยมีผู้ดูแลเพียงแค่คนเดียวก็ไม่สามารถทำได้

การแพทย์ทางไกล หรือ Telemedicine สามารถช่วยเหลือและให้คำปรึกษาทั้งผู้ป่วยและญาติได้ โดยปัจจุบันระบบ Telemedicine หรือการแพทย์ทางไกล ของไทยได้พัฒนามาจนถึงจุดที่คนไข้และหมอสามารถคุยและปรึกษากันผ่านระบบ Video Call ซึ่งจะทำให้พูดคุยตอบโต้กันได้ทันที และที่สำคัญหมอสามารถมองเห็นคนไข้ เพื่อที่จะพิจารณาอาการต่างๆ ได้ โดยที่คนไข้ไม่จำเป็นต้องออกจากบ้าน

และมากไปกว่านั้น ระบบ Telemedicine ไม่ได้มีเพียงแพทย์เฉพาะทางผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น ยังมีการให้คำปรึกษาด้านจิตใจโดยนักจิตวิทยาคลินิก ซึ่งถือเป็นการปรึกษาปัญหาสุขภาพที่ครอบคลุมทั้งสุขภาพกายและสุขภาพใจ ให้ผู้ป่วยและญาติสามารถปรึกษาได้ทุกเมื่อที่ต้องการ

การก้าวผ่านความทรมานจากการเจ็บป่วยไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เมื่อมีการดูแลรักษาที่ดีและถูกต้อง รวมถึงที่ปรึกษาทางการแพทย์อย่าง Telemedicine เชื่อว่าทั้งผู้ป่วยและญาติจะต้องผ่านความทรมานนี้ไปได้ด้วยดีอย่างแน่นอน

 

อ้างอิง:

ญาติผู้ดูแลผู้ป่วยมะเร็ง: การปรับตัวต่อบทบาทและการส่งเสริมคุณภาพชีวิต, วารุณี มีเจริญ Ph.D.(Nursing), Rama Nurse, January – April 2014

ญาติผู้ดูแลผู้ป่วยเรื้อรัง: กลุ่มเสี่ยงที่ไม่ควรมองข้าม,
สายพิณ เกษมกิจวัฒนา และปิยะภรณ์ ไพรสนธิ์, วารสารสภาการพยาบาล ปีที่ 29 ฉบับที่ 4, ตุลาคม-ธันวาคม 2557