August 22, 2017 Editorial

เริม โรคที่คุณไม่ต้องอาย รักษาไม่หาย แต่ไม่ใช่โรคร้ายแรง

เริม เป็นโรคติดต่อที่หลายคนรู้สึกเป็นโรคน่าอาย จนมักไม่กล้าบอกใครหรือแม้แต่ปรึกษาแพทย์ แต่ความจริงแล้ว โรคนี้หากรักษาได้ทันท่วงที ก็ไม่ใช่โรคที่รุนแรงอย่างที่คิดครับ

 

เริม คืออะไรและเกิดจากอะไร

เริม เป็นโรคผิวหนังชนิดหนึ่ง เป็นโรคติดต่อที่พบได้บ่อยในคนทุกวัย โดยเฉพาะในคนวัยหนุ่มสาวและวัยผู้ใหญ่ ทั้งผู้หญิงและผู้ชายต่างก็มีโอกาสเกิดโรคนี้ได้ใกล้เคียงกัน

สาเหตุของการเกิดโรคเริมมาจากการติดเชื้อไวรัส Herpes simplex virus (ไวรัสเฮอร์พีส์ ซิมเพล็กซ์ หรือ HSV) ซึ่งมีอยู่ 2 ชนิด ได้แก่

• ไวรัสเฮอร์พีส์ ซิมเพล็กซ์ ชนิดที่ 1 (Herpes Simplex Virus type 1: HSV-1) มักเป็นสาเหตุของการติดเชื้อบริเวณปาก อาจจะเป็นบนริมฝีปาก หรือรอบๆ ปาก ซึ่งมาจากร่างกายอ่อนแอ ภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น ในช่วงที่เครียด พักผ่อนน้อย ร่างกายอยู่ในระหว่างการพักฟื้นหลังผ่าตัด อยู่ในแสงแดดจัดเป็นเวลานาน หรือในช่วงมีประจำเดือนของผู้หญิง

• ไวรัสเฮอร์พีส์ ซิมเพล็กซ์ ชนิดที่ 2 (Herpes Simplex Virus type 2: HSV-2) เป็นสาเหตุของการติดเชื้อบริเวณอวัยวะเพศ

และเชื้อไวรัสทั้ง 2 ชนิดสามารถเป็นสาเหตุของการติดเชื้อบริเวณอื่นๆ ของร่างกายได้เช่นกันเมื่อร่างกายอ่อนแอ มีภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น บริเวณดวงตา หรือสมอง

ที่สำคัญคือเมื่อได้รับเชื้อแล้ว เชื้อจะฝังอยู่ในปมประสาท ทำให้ผู้ป่วยอาจหายจากอาการต่างๆ ได้ แต่ไม่สามารถหายขาดจากโรคนี้ได้ จะกลับมาเป็นอีกครั้งเมื่อร่างกายอ่อนแอ ภูมิต้านทานต่ำ ในผู้ที่ยังเป็นเด็ก เมื่อเป็นแล้วอาจจะเกิดอาการและเป็นบ่อยกว่าผู้ใหญ่ แต่เมื่อโตขึ้นภูมิต้านทานดีขึ้น อาการก็จะเกิดน้อยลงครับ

 

รอยโรคของ เริม

อาการเด่นชัดที่สุดของเริมคือเป็นตุ่มใสเล็ก พอง มีความเจ็บปวด และแสบบริเวณแผล เมื่อ 1-2 วันผ่านไป ภายในตุ่มใสจะมีน้ำอยู่ข้างใน และจะขึ้นเป็นกลุ่มบนผิวหนังในบริเวณที่ติดเชื้อ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นบริเวณปาก อวัยวะเพศ ทวารหนัก บั้นท้าย หรือต้นขา อาการจะเป็นอยู่ในระยะเวลา 1-2 สัปดาห์

โดยก่อนเกิดอาการตุ่มใส ผู้ป่วยมักจะมีอาการอ่อนเพลีย ปวดเมื่อยตามร่างกาย หรือในบางรายอาจมีอาการคล้ายหวัดแต่เป็นอาการเพียงเล็กน้อย ทำให้หลายคนไม่ทันสังเกต

ผู้ป่วยที่ติดเชื้อครั้งแรกจะค่อนข้างอาการหนักและรุนแรง ทำให้ต้องใช้เวลาในการรักษานานกว่าผู้ป่วยที่เคยเป็น และมีเชื้ออยู่แล้ว ซึ่งจะมีอาการที่เบาและรักษาได้เร็วกว่า

 

เริม อีสุกอีใส และงูสวัด แค่ดูคล้ายแต่ไม่เหมือน

เนื่องจากอาการหลักของเริมคือเป็นตุ่มใสเล็ก พอง ซึ่งก็มีอาการคล้ายโรคอื่นๆ ทำให้หลายครั้งผู้ป่วยและคนทั่วไปอาจสับสนในอาการของโรค ซึ่งได้แก่โรคอีสุกอีใส และโรคงูสวัด

ในโรคอีสุกอีใส จะมีอาการแรกเริ่มเหมือนกันคือ ก่อนจะเป็นตุ่มจะมีอาการอ่อนเพลียคล้ายอาการหวัด หลังจากนั้นโรคอีสุกอีใสจะเป็นผื่นราบสีแดง ก่อนจะเปลี่ยนเป็นตุ่มน้ำเช่นเดียวกับเริม แต่ข้อแตกต่างคือตุ่มของโรคอีสุกอีใสจะมีฐานสีแดงอยู่โดยรอบด้วย และจะมีอาการคัน ในขณะที่เริมจะเป็นตุ่มใสไม่มีฐาน และไม่มีอาการคัน แต่จะเป็นอาการเจ็บปวด และแสบบริเวณแผล

โรคงูสวัดมีการติดเชื้อไวรัสชนิดเดียวกับโรคอีสุกอีใส ทำให้อาการโดยทั่วไปมีความใกล้เคียงกัน และอาการที่เด่นชัดของงูสวัดคือจะรู้สึกปวดแสบปวดร้อน บางรายอาจปวดเหมือนไฟช็อต ในขณะที่บางรายแค่สัมผัสเบาๆ หรือสัมผัสผ่านเนื้อผ้าก็มีอาการปวดแล้ว ซึ่งจะบริเวณที่เป็นของโรคงูสวัดคือผิวหนังตามเส้นประสาท ในขณะที่โรคเริมส่วนใหญ่จะเป็นบริเวณปากหรืออวัยวะเพศครับ

แต่แท้จริงแล้วผู้ป่วยไม่ควรวินิจฉัยโรคเองนะครับ หากมีข้อสงสัยหรือความกังวลเกี่ยวกับโรคใดๆ ควรไปพบแพทย์เพื่อปรึกษาอาการและรักษา เพราะการคิดและวินิจฉัยเองอาจทำให้เกิดข้อผิดพลาดและอาจจะกลายเป็นปัญหาใหญ่เสี่ยงต่อชีวิตได้ การได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง และทันเวลาจะสามารถช่วยให้อาการทุเลาและไม่รุนแรงได้ครับ

การติดต่อของเริม

เริมสามารถติดต่อกันได้โดยการสัมผัสเชื้อโดยตรงจากบริเวณบาดแผล จากน้ำในตุ่มพอง และน้ำลาย การมีเพศสัมพันธ์หรือกิจกรรมทางเพศ รวมถึงการใช้ของเล่นทางเพศร่วมกัน นอกจากนั้นการใช้ของอื่นๆ เช่น แก้วน้ำ ผ้าขนหนู ช้อนส้อม ร่วมกับผู้ป่วยที่เป็นโรคเริม ก็เป็นสาเหตุที่ทำให้ติดเชื้อได้เช่นกัน

หากมารดาติดเชื้อบริเวณอวัยวะเพศขณะคลอดลูก ลูกก็สามารถรับเชื้อได้ทั้ง 2 ชนิด ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพทารก และอาจร้ายแรงจนทำให้เสียชีวิตได้ หรือแพทย์อาจแนะนำให้ผ่าท้องคลอด เพื่อหลีกเลี่ยงการกระทบกันของแผลและป้องกันการติดเชื้อ แต่อย่างไรก็ดี สตรีมีครรภ์ที่เคยมีการติดเชื้อของเริมควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิดครับ

 

ควรไปพบแพทย์เมื่อไหร่

อาการแรกเริ่มของเริมคือมีอาการคล้ายมีไข้ อ่อนเพลีย เหมือนเป็นหวัด แต่หากพบว่าผู้ป่วยมีไข้สูงก็ควรไปพบแพทย์ครับ ไม่ควรนิ่งนอนใจเพราะอาการไข้สูงสามารถเป็นอาการแรกเริ่มของหลายๆ โรคได้

นอกจากนี้เมื่อมีตุ่มลามมากเป็นกลุ่มบนผิวหนังที่ติดเชื้อ ก็ควรรีบไปพบแพทย์เช่นกัน เพราะอาจเป็นอาการขั้นรุนแรงของเริม และอาจเป็นอันตรายได้ รวมถึงผู้ป่วยที่เป็นบริเวณรอบดวงตา ควรรีบไปพบแพทย์ภายใน 24 ชั่วโมง เพราะเป็นบริเวณที่สามารถติดเชื้อได้ง่าย บางครั้งอาจจะมีอาการเจ็บตา เคืองตา น้ำตาไหลร่วมด้วย ซึ่งอาจส่งผลทำให้ติดเชื้อได้

และในผู้ที่ตุ่มน้ำเริ่มมีหนองข้างใน ซึ่งอาจเป็นการติดเชื้อแบคทีเรียได้ ควรรีบพบแพทย์เพื่อรับยาปฏิชีวนะในการรักษา ไม่ควรซื้อยามากินเอง เพราะอาจเป็นอันตรายได้

รวมถึงผู้ที่มีอาการกังวลต่างๆ ไม่ต้องรอให้โรคลุกลาม รุนแรง ก็สามารถไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษาได้เช่นกันครับ ยิ่งรักษาเร็วโอกาสหายสนิทก็จะยิ่งเร็วครับ

 

อันตรายจากภาวะแทรกซ้อน

ไม่ว่าจะเป็นเริมที่บริเวณอวัยวะส่วนไหนของร่างกาย การดูแลความสะอาดแผลและตุ่มใสจากเริมคือปัจจัยสำคัญ เพราะสามารถเกิดภาวะแทรกซ้อนได้หากดูแลไม่ดี ตุ่มพองอาจเป็นหนองจากการติดเชื้อแบคทีเรียได้

ซึ่งหากติดเชื้อบริเวณตา อาจส่งผลอันตรายถึงขั้นสูญเสียการมองเห็นหรือตาบอดได้ เพราะฉะนั้นในผู้ป่วยรายที่เป็นเริมบริเวณดวงตาควรรีบไปพบแพทย์ภายใน 24 ชั่วโมงครับ

หรือในกรณีที่เกิดขึ้นได้น้อยแต่ก็ไม่ควรประมาทคือ ในผู้ป่วยที่ภูมิต้านทานที่ลดลงต่ำ อาจติดเชื้อที่สมองหรือเยื่อหุ้มสมอง และทำให้สมองอักเสบ โดยหากเกิดโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบหรือสมองอักเสบ ผู้ป่วยจะมีไข้สูง ปวดศีรษะมาก ร่างกายอ่อนแรง ชักและอาจโคม่าได้

 

หายไม่ขาดแต่จัดการได้

อย่างที่กล่าวไปข้างต้นแล้วว่า เมื่อร่างกายได้รับเชื้อ Herpes Simplex Virus มาแล้ว ก็จะฝังอยู่ในปมประสาท ทำให้ไม่สามารถหายขาดได้ แต่การไปพบแพทย์ก็สามารถช่วยบรรเทาความเจ็บปวดและความรุนแรงของโรคได้ รวมทั้งแพทย์สามารถให้ยาเพื่อควบคุมการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส และลดความรุนแรงของอาการ และยังมียาสำหรับใช้ทาบริเวณตุ่มและแผล ซึ่งโดยทั่วไปแล้วแผลจากเริมจะสามารถหายได้หลังจาก 2-6 สัปดาห์ครับ

หรือในผู้ป่วยทั่วไปที่อาการไม่รุนแรง การพักผ่อนให้เพียงพอ ไม่เครียด และดูแลสุขภาพให้ดีในทุกด้าน ก็สามารถหายเองได้ใน 1-2 สัปดาห์

 

ดูแลตัวเองอย่างไรเมื่อเป็นเริม

เนื่องจากเริมเกิดจากการติดเชื้อไวรัสและภูมิคุ้มกันของร่างกายต่ำ เพราะฉะนั้นการดูแลร่างกายให้แข็งแรง ไม่ให้ภูมิคุ้มกันลดลงไปกว่าเดิม และการรักษาสุขอนามัยจึงเป็นสิ่งสำคัญในการดูแลตัวเองเมื่อเป็นโรคนี้ครับ

ผู้ป่วยควรพักผ่อนให้เพียงพอ และดื่มน้ำสะอาดให้มากพอ หรือดื่ม 8 แก้วต่อวัน และถ้าหากเป็นไปได้ควรออกกำลังกายครับ นอกจากนั้นควรหลีกเลี่ยงปัจจัยต่างๆ ที่จะกระตุ้นอารมณ์ทำให้เครียด หรือวิตกกังวล หลีกเลี่ยงการอยู่ในแดดจัด ลมแรง หรืออากาศหนาวเกินไปเพราะอาจทำให้ร่างกายอ่อนเพลียได้

รักษาสุขอนามัยเพื่อป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียและการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสต่อผู้อื่น โดยการรักษาความสะอาดของแผลและตุ่มพอง ล้างมือให้สะอาดทั้งก่อนและหลังสัมผัสกับแผล ไม่ใส่เสื้อผ้าที่รัดแน่นเกินไปในบริเวณที่เป็นแผลหรือตุ่ม ควรตัดเล็บให้สั้นเพื่อหลีกเลี่ยงการเกาเพราะอาจเป็นสาเหตุทำให้ตุ่มติดเชื้อและเป็นหนองได้ครับ รวมถึงควรอาบน้ำและฟอกสบู่ให้สะอาดด้วย

ผู้ป่วยและผู้ใกล้ชิดควรหลีกเลี่ยงการใช้ของที่อาจทำให้ติดเชื้อร่วมกัน เช่นแก้วน้ำ หรือผ้าขนหนู ช้อนส้อม และในบริเวณที่อยู่อาศัยก็ควรรักษาและทำความสะอาดอยู่เสมอเช่นกันครับ

หากมีไข้สูง ควรเช็ดตัวอย่างสม่ำเสมอ และปรึกษาแพทย์เพื่อทานยา รวมถึงหากมีอาการปวดหรือคันเช่นกัน

ที่สำคัญในช่วงที่เป็นโรคผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผู้อื่นโดยตรง เช่น การจูบ หรือการมีเพศสัมพันธ์เพราะเป็นการแพร่เชื้อได้ จนกว่าแผลจะหายสนิทครับ

หากเป็นเริมครั้งแรก ผู้ป่วยสามารถไปตรวจเพื่อหาโรคอื่นๆ ในการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์เพิ่มเติมได้ เพื่อความปลอดภัยและคลายกังวล รวมถึงผู้ที่เป็นเริมบ่อยๆ หรือมีอาการรุนแรง เป็นนานกว่า 1 เดือน ก็ควรตรวจเช่นกัน เพราะอาจมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้ออื่นๆ ได้ครับ

 

เริม ป้องกันได้

แม้ว่าในปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนสำหรับป้องกันโรคเริม แต่เราก็สามารถดูแลตัวเองเพื่อป้องกันโรคได้ครับ โดยรักษาสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกาย ทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ รวมถึงหลีกเลี่ยงปัจจัยอื่นที่จะทำให้ภูมิคุ้มกันในร่างกายลดลง อย่างความเครียด ความวิตกกังวล นอนน้อย หรืออยู่ในอากาศที่อุณหภูมิไม่พอดี ร้อนจัด หรือเย็นจัดเกินไปครับ

และหลีกเลี่ยงความเสี่ยงในการติดเชื้อทุกชนิด โดยการไม่ใช้ของร่วมกับผู้ที่ติดเชื้อ ไม่สัมผัสกับผู้ที่ติดเชื้อโดยตรง เช่นการจูบ หรือการมีเพศสัมพันธ์ รวมทั้งควรมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัยและปลอดเชื้อโดยการสวมถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ครับ

, , , ,