September 21, 2017 Editorial

ไข้แบบไหน อาจเป็นอันตรายร้ายแรง

เมื่อเจ็บไข้ได้ป่วย ร่างกายก็มักจะเกิดอาการผิดปกติต่างๆ ขึ้น ซึ่งเป็นสัญญาณบ่งชี้ถึงอาการของโรคที่ร่างกายกำลังเผชิญอยู่ อาการที่พบกันทั่วไปอย่างหนึ่งก็คือ มีไข้ ตัวร้อน หรือการที่ร่างกายมีอุณหภูมิสูงขึ้นอย่างผิดปกติ ซึ่งการมีไข้ไม่ได้ถือเป็นโรค แต่เป็นอาการบ่งชี้ว่าร่างกายกำลังติดเชื้อบางอย่างอยู่

 

โดยทั่วไปแล้ว การมีไข้ไม่ถือว่าเป็นอันตราย ถึงแม้การมีไข้จะทำให้รู้สึกไม่สบายตัว แต่ก็สามารถรู้สึกดีขึ้นได้เมื่อได้รับการรักษา อย่างไรก็ตาม เราอาจไม่จำเป็นต้องได้รับการรักษาเนื่องมาจากอาการไข้อย่างเดียวก็ได้ ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับอายุ สภาพร่างกาย และสาเหตุของการมีไข้ด้วย ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่เชื่อว่า อาการไข้เป็นการต่อสู้ตามธรรมชาติของร่างกายที่มีต่อการติดเชื้อ แต่มันก็มีอาการไข้อีกหลายอย่างมากที่ไม่ได้เกิดขึ้นเนื่องจากการติดเชื้อ และควรต้องระวังเป็นพิเศษ

 

แค่ไหนถือว่ามีไข้

ถึงแม้จะเป็นที่ยอมรับกันว่าอุณหภูมิปกติของร่างกายคือ 37 องศาเซลเซียส แต่ในความเป้นจริงแล้วอุณหภูมิปกติของร่างกายนั้นไม่คงที่ แต่สามารถแปรเปลี่ยนได้ประมาณ 0.5-1 องศาในระหว่างวัน ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ เช่น ช่วงเวลาของวัน ร่างกายเราจะมีอุณหภูมิต่ำสุดประมาณ 6 โมงเช้า และสูงสุดประมาณ 4 โมงเย็น จากสภาพอากาศรอบตัว จากการมีกิจกรรมต่างๆ หรือในบางช่วงเวลา อย่างผู้หญิงในช่วงไข่ตกก็จะมีอุณหภูมิร่างกายสูงขึ้นได้

โดยทั่วไป จะถือว่าอุณหภูมิร่างกายที่สูงมากกว่า 37.5 องศาเซลเซียส ถือว่าเรากำลังเป้นไข้ ถ้าสูงไม่เกิน 38 องศาเซลเซียส จะเรียกว่า “ไข้ต่ำ” แต่ถ้าสูงเกิน 38 องศาเซลเซียส ถือว่าไว้สูง และถ้าเกิน 41.5 องศาเซลเซียส จะถือว่าไข้สูงอย่างรุนแรงหรือ Hyperpyrexia ซึ่งเป็นภาวะที่จัดว่าเป็นอันตายที่สุด มักเกิดจากการติดเชื้อโรครุนแรงในกระแสโลหิต หรือเกิดจากภาวะเลือดออกในสมอง

 

ไข้เกิดจากอะไรได้บ้าง

สาเหตุของการมีไข้ที่พบบ่อยที่สุด เกี่ยวข้องกับการติดเชื้อ ซึ่งมีทั้งอาการติดเชื้อจากการอักเสบเฉพาะที่ เช่น คออักเสบ ลำไส้อักเสบ ข้ออักเสบ หรือการติดเชื้อแบคทีเรียและไวรัส เช่น เช่น ไข้หวัด ไข้มาลาเรีย ไข้จากแผล ฝีหนอง และยังมีการติดเชื้อซึ่งไม่มีอาการเฉพาะที่ เช่น ไข้เลือดออก ไข้หวัดใหญ่ ไข้ไทฟอยด์ เป็นต้น

แต่การมีไข้ก็อาจเกิดได้จากสาเหตุอื่นที่ไม่ใช่การติดเชื้อได้เช่นกัน เช่น เกิดจากการกระตุ้นของเหตุผิดปกติบางอย่างในร่างกาย อย่างมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ซึ่งจะมีไข้ร่วมกับอาการอื่น เช่น ต่อมน้ำเหลืองโต เกิดจากการอักเสบ เนื้องอกหรือมะเร็ง หรือเกิดจากศูนย์ควบคุมอุณหภูมิได้รับการกระทบกระเทือนจากความผิดปกติในสมองโดยตรง เช่น เนื้องอกในสมอง เส้นเลือดในสมองแตก เป็นต้น

เรายังอาจมีไข้ได้จากการแพ้ยา หรือเป็นปฏิกิริยาหลังจากได้รับเลือด รวมถึงสาเหตุอื่นๆ เช่น การออกกำลังกายกลางแดด การกินยาบางชนิด เนื้อเยื่อถูกทำลาย ความผิดปกติของการเผาผลาญพลังงานในร่างกาย ต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติ หรือจากภาวะขาดน้ำ

 

อาการไข้ที่ควรต้องรีบไปพบแพทย์

อย่างที่บอกไปแล้วว่า ไข้เกิดได้จากหลายสาเหตุ และควรรีบไปพบแพทย์ หากการมีไข้มาพร้อมกับอาการรุนแรงอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น

• ปวดศีรษะอย่างรุนแรง ร่วมกับอาการคลื่นไส้อาเจียน

• มีผื่นขึ้นตามตัว เจ็บคอ ปวดศีรษะ คอแข็ง และ/หรือแขนขาอ่อนแรง

• หายใจลำบาก เจ็บหน้าอก

• คอบวม หายใจไม่ออก

• ปวดท้องมาก

• มีอาการทางปัสสาวะ เช่น ปวดขณะปัสสาวะ ปัสสาวะไม่สุด ปวดแสบขณะปัสสาวะ

แต่ถึงแม้จะไม่มีอาการเหล่านี้ แต่หากมีอาการไข้ที่ไม่ลดลงภายใน 2-3 วัน ทั้งที่ดูแลตัวเองแล้ว รวมถึงผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น เด็ก ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ หรือผู้ป่วยโรคเรื้อรังต่างๆ ก็ควรไปพบแพทย์ในสองวันหากมีอาการไข้ต่อเนื่อง หรือไข้ขึ้นๆ ลงๆ นานเกิน 3-4 วัน

 

อาการไข้ในเด็ก

สำหรับเด็กที่ยังมีภูมิคุ้มกันต่ำ การมีไข้ถือเป็นเรื่องที่ควรต้องระมัดระวังเป็นอย่างมาก โดยถ้าหากทารกอายุน้อยกว่า 3 เดือน และมีอุณหภูมิร่างกาย 38 องศาหรือสูงกว่า ควรรีบไปพบแพทย์ทันที เพราะอาจเป็นสัญญาณถึงการติดเชื้อที่คุกคามถึงชีวิต หรือหากมีอุณหภูมิมากกว่านั้นอาจทำให้เด็กชักได้

อาการชักจากไข้สูง มักพบในผู้ป่วยเด็กช่วงอายุ 6 เดือน ถึง 6 ปี โดยเด็กที่เคยชักเวลามีไข้สูงหรือพ่อ แม่ พี่ มีประวัติชักเมื่อไข้สูง ต้องระวังเป็นพิเศษในขณะมีไข้ โดยเช็ดตัวและให้ยาลดไข้เพื่อป้องกันไม่ให้ไข้สูง ถ้าเด็กมีไข้สูงมาก การให้ยาลดไข้จะไม่ค่อยได้ผล ควรเช็ดตัวให้ไข้ลดเสียก่อน

นอกจากนั้นหากมีอาการเหล่านี้ร่วมกับมีไข้สูง ก็ควรไปพบแพทย์เช่นกัน

  • ง่วงซึม อ่อนแรง
  • หงุดหงิด ไม่มีความอยากอาหาร
  • เจ็บคอ ไอ ปวดหู
  • อาเจียน และท้องร่วง
  • มีอาการชัก
  • มีผื่นแดง
  • รู้สึกตึงบริเวณคอ หรือปวดหู

ในเด็กเล็ก ไม่จำเป็นต้องมีอาการดังกล่าว แต่หากมีไข้ตามจำนวนวันต่อไปนี้ ก็ควรรีบไปพบแพทย์ นั่นคือ

  • ในเด็กที่มีอายุ น้อยกว่า 2 ขวบ มีไข้มากกว่า 1 วัน
  • ในเด็กที่มีอายุ 2 ขวบขึ้นไป มีไข้มากกว่า 3 วัน

 

การวินิจฉัยไข้

ถึงแม้ว่าการวัดไข้จะทำได้ง่ายในปัจจุบัน ด้วยเครื่องมือต่างๆ แต่การหาสาเหตุบางครั้งก็เป็นเรื่องยาก นอกจากการตรวจร่างกายแล้ว แพทย์จะถามเกี่ยวกับอาการ การใช้ยา หรือการเดินทางไปยังที่ที่มีการติดเชื้อ หรือมีความเสี่ยงในการติดเชื้ออื่นๆ ซึ่งแพทย์อาจจะต้องตรวจเพิ่มเติม เช่น การตรวจเลือดหรือการเอ็กซเรย์ เป็นต้น

 

การรักษาไข้

การรักษาไข้ที่สำคัญก็คือ การรักษาต้นเหตุของการเกิดไข้ การลดไข้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการรักษาเท่านั้น ซึ่งอาจใช้ยาลดไข้โดยทั่วไป อย่างเช่น acetaminophen (Tylenol) และยาต้านการอักเสบ nonsteroidal เช่น ibuprofen (Advil, Motrin) และ naproxen (Aleve) แต่ในเด็กมักหลีกเลี่ยงการใช้ยาแอสไพริน เพราะอาจมีโอกาสแพ้ยา และทำให้เกิด Reye’s syndrome (โรคที่มีความผิดปกติของตับและสมองอย่างเฉียบพลัน) ได้

แต่ยาลดไข้เป็นเพียงยาบรรเทา ไม่ใช่ยารักษาสาเหตุที่ทำให้เกิดไข้ เมื่อกินยาหนึ่งครั้ง ยาจะออกฤทธิ์ลดไข้อยู่ได้นาน 4-6 ชั่วโมง หากสาเหตุที่ทำให้เกิดไข้ยังไม่หาย เมื่อยาหมดฤทธิ์แล้วไข้ก็จะปรากฏใหม่ ควรใช้ยาลดไข้เมื่อไข้สูงเท่านั้น และใช้ในขนาดที่เหมาะสมกับน้ำหนักตัว ห้ามให้ถี่กว่า 4 ชั่วโมง หากให้ยาลดไข้แล้วไข้ไม่ลด ควรให้ดื่มน้ำมากๆ ร่วมกับการเช็ดตัวลดไข้ ถ้าภายใน 2-3 วันอาการไข้ยังไม่ทุเลา ควรไปพบแพทย์

 

Source:

WebMD Medical Reference Reviewed by Carol DerSarkissian on April 30, 2017

John P. Cunha, DO, FACOEP Fever  www.medicinenet.com