January 16, 2018 SDN_Editorial

ควรทำอย่างไรเมื่อโดนข่มขืน – คุยกับนักจิตวิทยาเรื่องการเยียวยาจิตใจและการล้างแค้น

ไม่ว่าใครก็คงไม่ชอบการโดนบังคับฝืนใจ หากเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ก็คงสร้างความอึดอัดในใจช่วงเวลาหนึ่ง แต่หากเป็นเรื่องที่ใหญ่กว่านั้น อย่างการโดนบังคับทั้งทางกายและทางใจ อย่างการโดน ข่มขืน ที่นอกจะสร้างความเจ็บปวดให้ร่างกายแล้ว ยังสร้างบาดแผลในใจที่ร้าวลึกจนยากที่จะอธิบายความเจ็บปวดนี้

การรับมือกับสถานการณ์ถือเป็นสิ่งสำคัญ ทั้งการปฏิบัติกับร่างกายและการเยียวยาจิตใจ ซึ่งเราได้รวบรวมการให้คำแนะนำจากนักจิตวิทยาคลินิก อ. ชลาลัย แต้ศิลปสาธิต นักจิตวิทยาประจำ See Doctor Now เพื่อเป็นการเตรียมการรับมือกับสถานการณ์ที่ไม่คาดคิด และพร้อมจะช่วยเหลือผู้ที่โดนข่มขืน

มีสติ และขอความช่วยเหลือ

หลังจากโดนข่มขืน ผู้ที่โดนข่มขืนส่วนมากจะอยู่ในความรู้สึกช็อก และไม่รู้ว่าควรจะทำอย่างไรต่อไปดี โดย อ. ชลาลัย ได้ให้คำแนะนำถึงเรื่องการมีสติ ที่ถึงแม้จะเป็นเรื่องยากแต่ก็เป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด “จะต้องมีสติให้ได้ก่อนเป็นอันดับแรก เนื่องจากผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของการถูกข่มขืนจะต้องรีบดำเนินการ ไปโรงพยาบาลเพื่อการตรวจร่างกายและเก็บหลักฐานเพื่อประโยชน์ในการดำเนินคดี ซึ่งทั้งหมดนี้จะดำเนินการโดยแพทย์และพยาบาล อีกอย่างหนึ่งที่สำคัญคือการทานยาคุมฉุกเฉิน 

ถึงแม้ฟังแล้วเป็นเรื่องที่น่าจะทำได้ยาก แต่ในความเป็นจริงแล้วสาเหตุที่คนส่วนใหญ่ไม่ดำเนินการตามที่กล่าวหลังถูกข่มขืน เป็นเพราะไม่รู้ขั้นตอนการดำเนินการเพื่อรับมือ

อีกอย่างหนึ่งก็คือสามารถขอความช่วยเหลือจากบุคคลรอบข้างได้เช่นกันในกรณีที่ประเมินดูแล้วเห็นว่าเราไม่สามารถรับมือได้ไหว เช่น รีบโทรศัพท์แจ้งให้พ่อแม่ เพื่อน หรือ บุคคลใกล้ชิดที่สามารถมาหาเราได้อย่างรวดเร็ว หลังเกิดเหตุการณ์ เพื่อช่วยเรารับมือกับสิ่งที่เกิดขึ้น”

การถูกข่มขืนสามารถทำร้ายความรู้สึกได้อย่างรุนแรงและยาวนาน สิ่งสำคัญคือการขอความช่วยเหลือให้เร็วที่สุดเพื่อหลีกเลี่ยงภาวะแทรกซ้อนของอารมณ์ที่จะตามมา อย่าเพิ่งสิ้นหวังและคิดจะทำร้ายตัวเอง

 

พบแพทย์เพื่อตรวจร่างกายและเก็บหลักฐาน

หลังจากนั้นควรรีบไปพบแพทย์หลังเกิดเหตุให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยที่ไม่ต้องอาบน้ำและเปลี่ยนเสื้อผ้า เพื่อที่แพทย์จะสามารถตรวจและเก็บหลักฐานร่องรอยสิ่งต่างๆ ได้ และใช้เป็นหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ในการดำเนินคดีและเพื่อรักษาร่างกาย รวมถึงพิจารณาแนวทางป้องกันการติดโรค และการใช้ยาเพื่อป้องกันการตั้งครรภ์

 

นักจิตวิทยา หรือนักสังคมสงเคราะห์ พร้อมให้ความช่วยเหลือ

ในการดำเนินคดีจะต้องเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นซ้ำๆ ต่อหน้าคนหลายคน ซึ่งอาจเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้หลายคนกลัวและตัดสินใจไม่เข้าแจ้งความเพื่อดำเนินคดี แต่ถ้าว่ากันตามกระบวนการกฎหมายคดีประเภทนี้มักจะมีนักจิตวิทยา หรือนักสังคมสงเคราะห์อยู่ในทีมดำเนินการ ซึ่งถ้าในระหว่างดำเนินคดีผู้เสียหายรายไหนไม่มีและต้องการก็สามารถร้องขอได้

นอกจากนี้ อ.ชลาลัย ยังให้คำแนะนำเพิ่มเติมว่า “วิธีการรับมือกับสถานการณ์และความรู้สึกที่อึดอัดใจเหล่านี้ ผู้เสียหายสามารถขอความช่วยเหลือเพิ่มเติมได้ แม้ว่าโดยปกติเวลาที่ไปตรวจร่างกายในขั้นแรกเพื่อเก็บหลักฐาน ทางโรงพยาบาลจะมีการจัดผู้เชี่ยวชาญทางด้านการเยียวยาจิตใจมาพูดคุยกับผู้เสียหายอยู่แล้ว แต่ในระยะยาวถ้าผู้เสียหายยังคงต้องการการช่วยเหลือทางด้านจิตใจก็ควรจะเข้ารับการบำบัดรักษาจากจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งระยะเวลาในการบำบัดรักษาหรือการฟื้นฟูจิตใจในแต่ละรายใช้เวลาไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับตัวบุคคลและการประเมินของผู้เชี่ยวชาญเป็นหลัก”

ในกรณีที่ผู้ที่ถูกข่มขืนส่วนใหญ่รู้สึกว่าตัวเองไม่มีค่า ไม่คู่ควรต่อความรัก และบางคนไม่สามารถมีเพศสัมพันธ์กับคนรักได้อีกเลย ทางที่ดีควรเข้ารับการทำจิตบำบัด หรืออาจจะเป็นการรักษาด้วยยาซึ่งเป็นบทบาทหน้าที่ของจิตแพทย์

 

 

ผู้ที่ถูกข่มขืนควรอยู่ในที่ที่ปลอดภัยทั้งทางกายและทางใจ

จากข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ปัจจุบัน และจากการสำรวจพบว่าผู้ที่โดนข่มขืนหลายราย ถูกผู้ที่เป็นบุคคลใกล้ชิด เช่น เพื่อน หรือบุคคลในครอบครัวข่มขืน อ.ชลาลัยได้แนะนำว่า “ในกรณีที่ผู้กระทำเป็นคนในครอบครัว ตามปกติแล้วจะผู้เสียหายควรจะแยกออกไปอยู่ในสถานที่ปลอดภัยชั่วคราว ปลอดภัยในที่นี้คือทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ ในหลายๆ ครั้งผู้กระทำอาจจะไม่ได้อยู่ในบ้านหรือชุมชนนั้นแล้ว แต่การที่ผู้เสียหายยังต้องอาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมนั้นต่อไป และต้องพบเจอหรือได้ยินคำพูดถึงเกี่ยวกับผู้กระทำจากคนในครอบครัว หรือ กลุ่มเพื่อน ก็อาจทำให้ผู้เสียหายฟื้นตัวได้ช้ายิ่งขึ้น”

 

ความเข้มแข็งสามารถเกิดขึ้นได้จากความช่วยเหลือ

เมื่อผ่านเหตุการณ์รุนแรงต่อชีวิต หลายๆ คนพยายามจะรีบเข้มแข็งเพื่อที่จะกลับมาเป็นปกติให้เร็วที่สุด แต่ในทางจิตใจกลับไม่ใช่เรื่องง่าย อ.ชลาลัยได้อธิบายถึงเรื่องนี้ว่า

“การพยายามวางตนให้เข้มแข็งนี่ทำได้ยากมาก ไม่เฉพาะในคนที่ผ่านเหตุการณ์ร้ายๆ อย่างเช่น การข่มขืนมา แต่ในคนทั่วไปบ่อยครั้งที่เราก็มักจะพบว่าการวางตนให้เข้มแข็งไม่ใช่เรื่องที่จะทำกันได้ทุกวัน แต่ในคนที่ตกเป็นเหยื่อของการถูกข่มขืนจะต้องมีการรับมือกับอารมณ์มากกว่าคนปกติทั่วไป เพราะอาจจะมีอาการซึมเศร้า หดหู่ รวมถึงบาดแผลทางกายหลังเกิดเหตุการณ์ร่วมด้วยได้ ดังนั้นกำลังใจของคนรอบข้างเป็นสิ่งสำคัญ ไม่จำเป็นต้องเข้มแข็งให้ได้ด้วยตัวเอง และไม่จำเป็นต้องรีบเข้มแข็งให้ได้ในเร็ววัน การทำใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นรวมไปถึงการฟื้นฟูสภาพร่างกายและจิตใจตัวเองเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา และเป็นเรื่องปกติที่จะขอความช่วยเหลือจากคนรอบข้าง คนในครอบครัว เพื่อน รวมถึงจิตแพทย์ นักจิตวิทยา และผู้ให้บริการด้านสุขภาพจิตล้วนเป็นบุคคลสำคัญที่สามารถขอความช่วยเหลือได้

หลักสำคัญคือ ไม่จำเป็นต้องเร่งให้ตัวเองหายเศร้า และความเข้มแข็งสามารถเกิดขึ้นได้จากความช่วยเหลือของทุกๆ ฝ่าย”

 

คอยอยู่เคียงข้างและช่วยเหลือผู้ที่โดน ข่มขืน

หากเราเป็นผู้ช่วยเหลือผู้ที่ถูกข่มขืน หรือได้รับความไว้วางใจที่ผู้ถูกข่มขืนเล่าเรื่องราวให้ฟัง ทางที่ดีควรเป็นผู้รับฟังที่ดีและก็คอยช่วยเหลือทางด้านอารมณ์ ไม่ควรเร่งให้ฟื้นตัว แต่ควรอยู่ข้างๆ และปล่อยให้ผู้ที่โดนข่มขืนค่อยๆ หายในระยะเวลาที่ต้องการ ถ้าคิดว่าเราไม่รู้หรือไม่มั่นใจในวิธีรับมือก็ไม่ควรช่วย แต่ควรแนะนำให้ผู้ที่โดนข่มขืนไปหาคนที่มีความรู้เฉพาะทางอย่างเช่น จิตแพทย์ หรือนักจิตวิทยาจะดีกว่า

 

การล้างแค้นแบบในละคร ไม่ได้ถือเป็นการเยียวยาจิตใจของผู้โดนข่มขืน

ในละครหรือภาพยนตร์หลายเรื่องเรามักจะเห็นฉากการล้างแค้นของผู้ที่โดนข่มขืนในรูปแบบต่างๆ แต่การกระทำเหล่านั้นไม่ได้ถือว่าเป็นการเยียวยาจิตใจในทางจิตวิทยา โดย อ. ชลาลัยได้ให้ความเห็นว่า “การกระทำของตัวละครที่ตามล้างแค้นเป็นการทวงคืนความยุติธรรมแบบศาลเตี้ยเท่านั้น เพราะการล้างแค้นไม่ได้เกี่ยวกับการเยียวยาทางจิตใจเลย”

ยิ่งไปกว่านั้นจากการสำรวจพบว่าผู้ที่ถูกข่มขืนบางรายเผยความในใจว่าหากทำได้ ก็อยากจะฆ่าผู้ที่ข่มขืนตัวเอง และบางรายรู้สึกโล่งใจ และสบายใจมากขึ้นเมื่อรู้ว่าผู้ที่ข่มขืนตัวเองเสียชีวิตแล้ว ในกรณีนี้นี้ อ.ชลาลัยอธิบายว่า “ที่ผู้เสียหายบางรายคิดเช่นนี้เป็นเพราะว่าไม่ได้รับการเยียวยาบำบัดจิตใจมาตั้งแต่แรก และอาจเป็นไปได้ว่าไม่ได้รับการเยียวยาที่เหมาะสมทั้งในแง่กฏหมายหรือจิตใจ ผู้เสียหายบางรายอาจเลือกที่จะไม่ดำเนินคดีทางกฎหมายเลยก็เป็นได้เพราะความอับอาย จึงเก็บกดอารมณ์ที่เกิดขึ้นภายในจิตใจมาเป็นระยะเวลานาน กลายเป็นความแค้น ทางที่ดีควรเข้ารับการช่วยเหลือ รับการบำบัดทางจิตใจ”

 

หากอายไม่อยากบอกใคร ควรทำอย่างไร

หากไม่ต้องการจะพบแพทย์หรือดำเนินคดี ในทางปฏิบัติสามารถซื้อยาคุมฉุกเฉินจากร้านยาทานได้ โดยควรทานทันทีภายใน 72 ชั่วโมง และทานเม็ดที่สองหลังจากเม็ดแรก 12 ชั่วโมง

แต่อย่างไรก็ตาม ควรพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกายถึงความเสี่ยงในการติดโรคเพื่อหาแนวทางป้องกันและแก้ไข และรักษาบาดแผลทางร่างกาย รวมถึงปรึกษาเภสัชกรหรือแพทย์ในการใช้ยา

 

ปรึกษาแพทย์และนักจิตวิทยาอย่างเป็นส่วนตัวได้จากที่บ้าน

หากไม่ต้องการเดินทางไปโรงพยาบาล See Doctor Now มีทั้งแพทย์แผนกนิติเวช และนักจิตวิทยาคลินิกที่จะสามารถช่วยให้คำปรึกษาได้อย่างเป็นส่วนตัวจากที่บ้านผ่านแอปพลิเคชั่น เพื่อให้ผู้ที่ต้องการปรึกษาได้ความสบายใจ และเป็นส่วนตัวที่สุด