March 15, 2018 SDN_Editorial

ทุกเรื่องที่ควรรู้เกี่ยวกับ “โรคพิษสุนัขบ้า” โรครุนแรงที่กำลังระบาด

โรคพิษสุนัขบ้า หรืออีกชื่อคือ “โรคกลัวน้ำ” เป็นโรคติดต่อร้ายแรงที่ยังไม่มียารักษา มีสาเหตุมาจากเชื้อไวรัสเรบีส์ (Rabies) ซึ่งอยู่ในน้ำลายของสัตว์ที่ติดเชื้อ แพร่สู่คนโดยการกัด ข่วน หรือเลีย และได้รับเชื้อพิษสุนัขบ้าเข้าทางบาดแผลหรือทางเยื่อบุต่างๆ

โรคพิษสุนัขบ้าไม่ได้เป็นเฉพาะในฤดูร้อนเท่านั้น แต่สามารถเป็นได้ทุกฤดูกาล และเกิดได้ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิด โดยสัตว์ส่วนใหญ่ที่นำเชื้อได้คือ สุนัข แมว และค้างคาว ซึ่งพบทั้งในสัตว์จรจัดและสัตว์เลี้ยง ทั้งที่ฉีดวัคซันแล้วและยังไม่ฉีดวัคซีน การสังเกตอาการจึงเป็นสำคัญ

อาการสัตว์ที่ติดโรคพิษสุนัขบ้า

สามารถแบ่งได้เป็น 2 แบบ

1.แบบดุร้าย ซึ่งจะเจอในสัตว์ที่ติดเชื้อส่วนใหญ่

  • มีอาการหงุดหงิด ดุร้าย ไล่กัดคนและสัตว์อื่นๆ
  • หากผูกโซ่หรือกักขังไว้ในกรงจะกัดโซ่ กรง จนฟันหักหรือลิ้นเป็นแผล มีเลือดออก
  • หลังจาดนั้นจะอ่อนเพลียลง ขาหลังไม่มีแรง เดินโซเซ และตายในที่สุด

2. แบบเซื่องซึม

  • มีอาการปากอ้าหุบไม่ได้ คอบวม
  • ลิ้นมีสีแดงคล้ำ บางครั้งมีสิ่งสกปรกติดอยู่ และลิ้นห้อยออกมานอกปาก
  • มีพฤติกรรมแปลกๆ เอาขาหน้าตะกุยบริเวณแก้มและปาก
  • ลุกนั่ง ยืน เดินไปมาบ่อยๆ
  • กินของแปลก เช่น ใบไม้ ก้อนหิน

แต่ถึงอย่างไรสุนัขและแมวสามารถแพร่เชื้อโรคได้ 1-7 วันก่อนจะแสดงอาการ เพราะฉะนั้นหากโดนสุนัขและแมวกัด หรือข่วนแล้วมีเลือดออก ควรล้างแผลและไปสถานพยาบาลทันที

การปฏิบัติตัวเมื่อโดนสัตว์กัด ข่วน หรือเลีย

  1. การล้างแผลด้วยน้ำสะอาดและสบู่หลายๆ ครั้งทันที หลังจากโดนสัตว์กัด โดนเลียบริเวณที่มีบาดแผลหรือเยื่อบุ รวมถึงโดนข่วน แม้ว่าเป็นแผลที่เล็กมาก และที่สำคัญควรล้างให้ลึกถึงก้นแผลจะสามารถลดปรมาณเชื้อโรคได้
  2. ควรไปพบแพทย์ทันที เพื่อทำการรักษาและพิจารณาการให้วัคซีนเพื่อป้องกันการติดเชื้อ แม้ว่าสัตว์ที่กัดจะได้รับการฉีดวัคซีนแล้วก็ตามครับ

การติดต่อโรคสู่คน

ส่วนใหญ่ที่พบจะเป็นการถูกสัตว์ที่เป็นโรคกัด และเชื้อไวรัสเข้าสู่ร่างกายทางบาดแผล แต่การถูกสัตว์ที่เป็นโรคเลียบริเวณที่มีบาดแผล รอยถลอก รอยขีดข่วน และถูกเลียที่ริมฝีปากหรือนัยน์ตาก็สามารถติดเชื้อได้เช่นกัน รวมถึงถูกสัตว์ที่เป็นโรคข่วน เพราะอาจมีไวรัสจากน้ำลายติดค้างอยู่ที่เล็บและแพร่เชื้อได้หากแผลมีเลือดออกแม้เพียงเล็กน้อย ซึ่งเป็นสิ่งที่มักถูกละเลยและไม่ระวัง

ตำแหน่งของแผล ขนาดของบาดแผล และจำนวนของบาดแผลที่โดนสุนัขที่ติดเชื้อกัด มีผลต่อการติดเชื้อในคน หากบาดแผลใกล้สมอง เชื้อก็จะเข้าถึงระบบประสาทได้เร็วขึ้น หากบาดแผลมีขนาดใหญ่หรือมีมาก โอกาสที่จะได้รับเชื้อก็มีมากเช่นกัน

การติดเชื้อจากคนสู่คน เคยมีรายงานว่าติดเชื้อผ่านการปลูกถ่ายอวัยวะจากคนที่เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้า ส่วนการสัมผัสทั่วไปกับผู้ป่วยที่ติดเชื้อ ไม่พบว่ามีการติดต่อแม้ว่าในทางทฤษฎีสามารถเกิดขึ้นได้ และเพราะเป็นโรคที่รุนแรงและยังไม่มียารักษา การสัมผัสกับผู้ป่วยจึงควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์และควรปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด 

อาการของคนที่ติดเชื้อ โรคพิษสุนัขบ้า

โดยผู้ที่ติดเชื้อจะมีอาการมีไข้ต่ำ เจ็บคอ เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย คันหรือปวดแสบปวดร้อนตรงบริเวณแผลที่ถูกกัด ทั้งๆ ที่แผลอาจหายเป็นปกติแล้ว

จากนั้นจะตื่นเต้นง่าย กระสับกระส่าย ไม่ชอบแสงสว่าง ไม่ชอบลม และไม่ชอบเสียงดัง กลัวน้ำ กลืนลำบากแม้จะเป็นของเหลวหรือน้ำ และจะเอะอะ อาละวาด อาจมีอาการชัก เป็นอัมพาต หมดสติ และเสียชีวิตในที่สุดเนื่องจากส่วนที่สำคัญของสมองถูกทำลาย

 

 

ป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าด้วยการฉีดวัคซีน

การฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในคน สามารถแบ่งได้เป็น 2 กรณีคือยังไม่โดนสัตว์กัด และหลังโดนสัตว์กัด

  1. การฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าล่วงหน้า (Pre-exposure vaccination)

เป็นวัคซีนแบบป้องกันล่วงหน้าในกรณียังไม่โดนสัตว์กัดทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ ฉีดเพื่อทำให้ระดับภูมิคุ้มกันโรคสูงพอที่จะป้องกันการติดเชื้อ และมีความปลอดภัยขึ้นเมื่อได้สัมผัสหรือรับเชื้อ

โดยชุดแรก (Primary vaccination) ฉีด 3 เข็ม มีการเว้นระยะการฉีดที่ชัดเจน โดยฉีดเข็มที่ 1 วันที่ 0 เข็มที่ 2 วันที่ 7 และเข็มที่ 3 วันที่ 21หรือ28 หลังจากฉีดชุดแรกครบ 1 ปี ฉีดวัคซีนกระตุ้นซ้ำอีก 1 เข็ม จากนั้นวัคซีนกระตุ้นซ้ำ 1 เข็ม ในทุกๆ 5 ปี

การฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันจะทำให้ระดับภูมิคุ้มกันโรคสูงพอที่ป้องกันการติดเชื้อ และยังทำให้การรักษาภายหลังสัมผัสโรคมีค่าใช้จ่ายลดลงและมีความปลอดภัยมากขึ้นทั้งในสัตว์และคน

  1. การฉีดวัคซีนป้องกันหลังสัมผัสโรคพิษสุนัขบ้า (Post-exposure vaccination)

หลังถูกสัตว์กัด ข่วน ไม่ว่าจากสัตว์จรจัด หรือสัตว์เลี้ยงที่รู้ประวัติการฉีดวัคซีนก็ตาม หลังจากล้างแผลด้วยน้ำและสบู่แล้วต้องไปพบแพทย์ทันที และหากมีความเสี่ยงต่อโรค ต้องได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 โดยเร็วที่สุด และเข็มต่อมาตามสูตร

ในขณะเดียวกันควรสังเกตอาการสุนัขภายใน 14 วันว่าสุนัขร่าเริงเป็นปกติหรือไม่ หรือมีอาการป่วย ซึม และผิดปกติอื่นๆ จากนั้นรายงานให้แพทย์ทราบ โดยแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาร่วมกับคนไข้ถึงการให้วัคซีนตามสูตรต่อไปครับ

 

การฉีดวัคซีนให้กับสัตว์

การฉีดวัคซีนให้กับสัตว์เป็นหน้าที่ของผู้เลี้ยงดูสัตว์เลี้ยงที่ต้องนำไปฉีด และการฉีดวัคซีนพิษสุนัขบ้าถือเป็นวัคซีนที่สำคัญจำเป็นต้องทำ และเป็นการป้องกันการแพร่เชื้อได้ทางหนึ่ง

โดยสัตว์เลี้ยงอย่างสุนัขและแมวเริ่มฉีดได้ครั้งแรกเมื่ออายุครบ 3 เดือน ซึ่งเป็นช่วงที่ระบบภูมิคุ้มกันตอบสนองได้แล้ว จากนั้นฉีดซ้ำเมื่อ 6 เดือน หรือ 1 ปี และที่สำคัญต้องฉีดกระตุ้นปีละ 1 ครั้ง

สำหรับสัตว์ที่ไม่ทราบอายุแน่นอน หรือไม่ทราบประวัติการฉีดวัคซีน ควรนำไปพบสัตวแพทย์เพื่อทำการประเมินครับ 

 

ข้อมูลอ้างอิง

โรคพิษสุนัขบ้า

http://www.ku.ac.th/e-magazine/april48/know/rabies.html

โรคพิษสุนัขบ้า ร้ายแรง แต่ป้องกันได้!

http://www.pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/12/โรคพิษสุนัขบ้า-การป้องกัน

วัคซีนพิษสุนัขบ้า (Rabies vaccine)

http://haamor.com/th/วัคซีนพิษสุนัขบ้า

รู้โรคพิษสุนัขบ้า ฉีดวัคซีนก็ตายได้

https://www.thairath.co.th/content/281765

 

 

,