April 12, 2018 SDN_Editorial

เตรียมตัวเดินทางสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์

การเดินทางไกลสำหรับคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ควรระวังเรื่องอะไรบ้าง และต้องเตรียมตัวอะไรเป็นพิเศษ บทความนี้เรามีคำแนะนำจากหมอนุ่น ปนัดดา บรรยงวิจัย แพทย์เฉพาะทางด้านสูตินรีเวชมาฝากกันครับ

เมื่อต้องเดินทางไกลใช้เวลาหลายชั่วโมง สิ่งหนึ่งที่เลี่ยงไม่ได้เลยคืออาการอ่อนเพลีย เหนื่อยล้า ซึ่งเป็นอาการที่สามารถเกิดขึ้นได้ในทุกเพศทุกวัย แต่ในคุณแม่ตั้งครรภ์อาการนี้จะนำมาซึ่งความเครียดต่อร่างกาย และเป็นตัวสำคัญที่จะกระตุ้นให้เกิดการเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด หรือกระตุ้นให้เกิดการบีบตัวของมดลูกได้ครับ

การสังเกตอาการของร่างกาย เพื่อป้องกันและหาทางรักษาด้วยการ

1.สังเกตอาการท้องแข็ง

การเดินทางเป็นเวลานานในท่านั่งซึ่งค่อนข้างอึดอัดสำหรับคนท้อง ทำให้มีโอกาสเกิดอาการท้องแข็งได้ ซึ่งเป็นอาการที่สัมพันธ์กับการบีบตัวของมดลูกที่จะคลอดก่อนกำหนด ในอายุครรภ์ที่น้อยกว่า 28 สัปดาห์ หากมีการบีบตัวของมดลูก คุณแม่จะรู้สึกว่าท้องแข็ง เจ็บท้องหน่วงๆ ลงไปในช่องคลอด และถ้ามีอาการเกิดขึ้นเกิน 5-6 ครั้งภายใน 1 ชั่วโมง ซึ่งเป็นความถี่ที่สามารถกระตุ้นให้ปากมดลูกเปิดได้ในทุกอายุครรภ์ ให้คุณแม่รีบไปโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด เพื่อตรวจดูว่ามีความเสี่ยงที่จะคลอดหรือไม่ หากปากมดลูกเปิดแล้วอาจทำให้ยับยั้งการคลอดไม่ได้ ทำให้ทารกต้องคลอดออกมาก่อนกำหนด และทำให้เด็กที่คลอดออกมามีสุขภาพที่ไม่แข็งแรง

2.สังเกตการดิ้นของทารกในครรภ์

การดิ้นของทารกในครรภ์สามารถบ่งบอกถึงสุขภาพของทารกได้ หากมีความผิดปกติเกิดขึ้นกับทารก เช่น ภาวะพร่องออกซิเจนในครรภ์ ทารกมีความเครียด ทารกจะดิ้นน้อยลงอย่างชัดเจนหรือหยุดดิ้น  เกณฑ์วัดการดิ้นของทารกที่อายุครรภ์มากกว่า 28 สัปดาห์ ให้นับการดิ้นของทารกในช่วงวัน โดยแบ่งออกเป็น

  • ช่วงเช้าหลังตื่นนอน-เที่ยงวัน
  • ช่วงเที่ยงวันเป็นต้นไป-หกโมงตอนเย็น
  • ช่วงหกโมงเย็นเป็นต้นไป-ก่อนนอน

โดยการดิ้นไปเรื่อยๆ จนหยุดให้นับเป็น 1 ครั้ง และทารกควรจะดิ้นอย่างน้อย 4 ครั้งภายในแต่ละช่วงวัน ถ้าหากทารกดิ้นน้อยกว่า 4 ครั้งหรือไม่ดิ้นเลยในหกชั่วโมงต่อเนื่อง ให้สงสัยไว้ก่อนว่ามีความผิดปกติ เช่น ตื่นเช้าขึ้นมาจนถึงเที่ยงลูกไม่ดิ้นเลย หรือดิ้นไปแค่ครั้งเดียว คุณแม่ควรจะรีบไปโรงพยาบาลภายในบ่ายวันนั้นเลย ไม่ควรรอจนถึงช่วงเย็นหรือปล่อยให้ข้ามวัน การไปโรงพยาบาลโดยเร็วจะเป็นประโยชน์สูงสุด จะทำให้แพทย์ช่วยชีวิตเด็กได้

ส่วนถ้าหากทารกมีการดิ้นเยอะ ไม่ถือว่าเป็นความผิดปกติหรือมีอันตราย ถือว่าสุขภาพทารกแข็งแรงดี 

ในอายุครรภ์ที่น้อยกว่า 28 สัปดาห์ ที่คุณแม่ยังไม่เคยรู้สึกถึงการดิ้นของลูก ให้สังเกตความผิดปกติจากอาการที่สัมพันธ์กับการแข็งตัวของมดลูก อย่างการท้องแข็ง เจ็บท้องหน่วงๆ 5-6 ครั้งภายใน 1 ชั่วโมง ควรรีบไปโรงพยาบาล

 

เตรียมตัวให้พร้อมก่อนออกเดินทาง

คุณแม่ที่ใกล้คลอด อายุครรภ์ 36 สัปดาห์ขึ้นไป

ในช่วงที่ทารกในครรภ์มีอายุ 36 สัปดาห์ขึ้นไป ถือว่าเด็กอยู่ในช่วงที่แข็งแรงใกล้คลอด ถ้าเป็นไปได้คุณแม่ควรเดินทางด้วยรถส่วนตัว เพราะมีโอกาสคลอดระหว่างเดินทางได้ถ้ามีอาการท้องแข็ง และควรศึกษาเส้นทาง รวมถึงโรงพยาบาลระหว่างทางเพื่อที่จะได้แวะได้ทันที

การเดินทางด้วยรถประจำทาง

การเดินทางด้วยรถประจำทาง เช่น รถทัวร์ แนะนำว่าไม่ควรนั่งรถที่เบาะที่นั่งแคบ ด้วยสรีระของคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ที่มีท้องใหญ่ขึ้น จะต้องใช้พื้นที่ที่ให้ความรู้สึกผ่อนคลาย โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลวันหยุดที่อาจใช้ระยะเวลาในการเดินทางที่ยาวนานขึ้น อาจจะข้ามวันข้ามคืน การนั่งในที่แคบ อึดอัด ย่อมไม่ส่งผลดี

 

หวังว่าคุณแม่ทุกท่านที่กำลังจะเดินทางทั้งใกล้ หรือไกล เดินทางโดยสวัสดิภาพ และมีสุขภาพที่แข็งแรงทั้งแม่ทั้งลูกครับ หากมีข้อสงสัยเพิ่มเติม หรือต้องการปรึกษาปัญหาเกี่ยวกับการตั้งครรภ์ คุณหมอนุ่น ปนัดดา แพทย์เฉพาะทางด้านสูตินรีเวชจาก See Doctor Now ยินดีให้คำปรึกษาเสมอครับ

และหากคุณแม่ท่านไหนสนใจเรื่องการดูแลตัวเองระหว่างตั้งครรภ์ จนไปถึงหลังการคลอดสามารถติดตามข้อมูลความรู้และเรื่องราวดีๆ ได้ที่เฟซบุ๊กเพจ “คนท้อง ก็ต้องสวย by หมอนุ่นfacebook.com/DrNoonPanatda ครับ