September 13, 2017 Editorial

กลัวการเข้าสังคม เรื่อง (มี) จริงที่ไม่ควรมองข้าม

ไม่ใช่แค่เด็กๆ เท่านั้นที่รู้สึก กลัวการเข้าสังคม และกังวลเมื่อต้องเผชิญกับคนที่ไม่คุ้นเคย แต่ในวัยรุ่นและผู้ใหญ่เองก็มีอาการนี้เช่นเดียวกัน และค่อนข้างรุนแรงกว่าด้วย นั่นคือรู้สึกอัดอัด เครียด และวิตกวังกล ประหม่า กลัว จนไปถึงกับมีอาการสั่น

อาการนี้ถือเป็นอุปสรรคสำคัญในการใช้ชีวิต การทำงาน ไปจนถึงการพบปะเจอะเจอผู้คน และการพบกับประสบการณ์ดีๆ อีกหลายอย่าง สำหรับบางคนอาจแก้ปัญหาโดยหลีกเลี่ยงการเข้าสังคมไปอย่างสิ้นเชิง แต่อย่าลืมว่าเราไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ตลอดเวลา จะดีกว่ามั้ยถ้าหากเรารักษาอาการนี้ให้หายขาด หรือให้ลดน้อยลงได้

 

กลัวการเข้าสังคม เป็นยังไง

กลัวการเข้าสังคม เป็นยังไง

ความกลัวหลักๆ ของผู้ที่มีอาการนี้ก็คือ กลัวไม่เป็นที่ยอมรับ กลัวการวิพากษ์วิจารณ์จากคนอื่น และกลัวว่าจะทำอะไรที่น่าอาย นี่เป็นอาการที่แตกต่างจากผู้ที่มีนิสัยขี้อาย คือจะทำอะไรแทบไม่ได้เลย และเมื่อต้องเผชิญหน้ากับสถานการณ์หรือผู้คนใหม่ๆ จะถึงกับมีอาการสั่น ตื่นกลัว ในบางรายอาจจะมีเวียนหัว ท้องไส้ปั่นป่วน ใจสั่น หน้าแดง เหงื่อแตก หรือมีอาการเกร็งของกล้ามเนื้อก็ได้ครับ

นอกจากนี้ยังมีอาการทางความรู้สึก ที่สามารถเช็คได้ว่าคุณกลัวการเข้าสังคมหรือไม่ นั่นก็คือ

  • มีความกลัว กังวล เครียดกับนัดหมายทางสังคมล่วงหน้าหลายวัน หรือเป็นสัปดาห์ เป็นเดือน
  • ประหม่า เมื่อต้องเผชิญกับสถานการณ์ทางสังคมใหม่ๆ มากกว่าคนอื่น
  • กลัวว่าคนอื่นจะรู้ว่ากำลังประหม่า
  • มีความกลัวอย่างฝังลึกว่าจะโดนจ้องมอง หรืออาจจะโดนวิจารณ์
  • มักจะกังวลเมื่อต้องอยู่ในที่สาธารณะคนเดียว
  • ประหม่าเมื่อต้องไปไหนมาไหน หรือนั่งกินข้าวคนเดียว

หากสิ่งเหล่านี้คือความรู้สึกของคุณมากกว่าหนึ่งข้อ และเป็นความรู้สึกต่อเนื่องที่ไม่อาจขจัดออกจากไปได้ มันก็อาจเป็นเสียงเรียกร้องว่าคุณกำลังต้องการความช่วยเหลืออยู่ก็ได้นะครับ

ก็แค่กลัวการเข้าสังคม...ไม่รักษาได้มั้ย?

ก็แค่กลัวการเข้าสังคม…ไม่รักษาได้มั้ย?

การกลัวการเข้าสังคมไม่ได้เป็นแค่เรื่องเล็กน้อยนะครับ หากเป็นในเด็กหรือผู้ที่อายุยังน้อยอาจจะมีโอกาสหายเองเมื่ออายุมากขึ้น หรือถ้าหากไม่หาย และไม่ได้รับการรักษา อาจจะส่งผลต่อบุคลิกภาพของคนๆ นั้นเมื่อโตขึ้นได้ หรือแม้แต่ในวัยรุ่นหรือวัยผู้ใหญ่เอง หากยังมีอาการกลัวการเข้าสังคมอยู่ก็อาจเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาตนเอง และการพัฒนาบุคลิกภาพ รวมถึงอุปสรรคที่จะมีประสบการณ์ใหม่ๆ และความก้าวหน้าในชีวิต ไปจนถึงอาจเกิดปัญหาทางอารมณ์อื่นๆ และโรคซึมเศร้าตามมาได้ครับ

และในอีกกรณีก็พบว่า บางคนหันไปใช้การดื่มแอลกอฮอล์เพื่อเพิ่ม “ความกล้า” ในการเข้าสังคม ซึ่งถือว่าเป็นการแก้ปัญหาที่ผิดทางโดยสิ้นเชิง เพราะการดื่มแอลกอฮอล์ช่วยให้เกิด “ความคึกคะนอง” ไม่ใช่ “ความกล้า” และเกิดขึ้นได้เพียงชั่วครู่ชั่วคราวเท่านั้น แต่สิ่งที่จะตามมาในระยะยาวคือปัญหาสุขภาพ และปัญหาทางจิตใจที่ทับถมมากขึ้นเรื่อยๆ ครับ

 

เปลี่ยนความคิด ชีวิตเปลี่ยน

สำหรับผู้ที่รู้สึกว่าตัวเองมีความกลัวในการเข้าสังคมอยู่บ้าง แต่ยังไม่รุนแรง อาจลองเริ่มใช้วิธีการเหล่านี้เพื่อรับมือกับการกลัวการเข้าสังคมด้วยตนเองดูก่อน นั่นก็คือ

  • เปลี่ยนความคิด สร้างรากฐานความความคิดให้ตัวเอง หยุดคิดว่าจะทำไม่ได้ และมองในแง่ดีว่าจะต้องทำได้แน่นอน หรืออาจจะคิดว่าคนตรงหน้าเป็นคนที่เราคุ้นเคยจะทำให้รู้สึกเกร็งน้อยลง
  • เพิ่มความมั่นใจ อาจจะเริ่มจากการซ้อมพูดกับตัวเองหน้ากระจกก่อน แล้วเปลี่ยนไปซ้อมกับคนที่เราวางใจ อาจจะซ้อมจนกว่าความประหม่าจะหมดไปเพื่อเรียกความมั่นใจให้ตัวเอง
  • เผชิญหน้า ถึงเวลาต้องเลิกกลัวและมั่นใจในตัวเอง เป็นตัวของตัวเอง เลิกเดาความคิดคนอื่นว่าเขาจะคิดกับเราไม่ดี หรือทางที่ดีคือไม่ต้องคิดเลยว่าเขาจะคิดอย่างไรกับเรา เพียงแต่ทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุดเท่านั้น
  • มองไปรอบตัวบ้าง บางครั้งเราอาจจะไปโฟกัสสิ่งตรงหน้าตลอดเวลา ซึ่งจะทำให้เกร็งจนไปถึงการกลับมาคิดกังวลกับตัวเองซ้ำๆ การละสายตาไปมองรอบข้างบ้างจะช่วยลดความประหม่า และทำให้เราได้เห็นสถานการณ์รอบๆ มากขึ้น และยังดูผ่อนคลายขึ้นอีกด้วยครับ

แม้ว่าการพยายามเข้าสังคม หรือการพูดคุยกับคนแปลกหน้าจะเป็นอาจจะยากในช่วงแรก แต่หากพยายามบ่อยๆ การเข้าสังคมก็กลายเป็นเรื่องง่ายได้

แต่หากยังรู้สึกไม่มั่นใจ หรือพยายามแล้วไม่ได้ผลลัพธ์ที่ดีขึ้น โรคกลัวการเข้าสังคมก็สามารถรักษาเยียวยาได้โดยผู้เชี่ยวชาญ เพราะฉะนั้นการปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญเพื่อพูดคุย และหาทางเลือกที่เหมาะสมในการรักษา ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ควรลองพิจารณาดู

หากกลัวที่จะเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาล การใช้เทคโนโลยีใหม่ล่าสุดอย่าง Telemedicine ที่สามารถปรึกษาแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางในด้านต่างๆ ได้จากที่บ้าน ก็เป็นทางเลือกหนึ่งที่น่าจะเหมาะสมสำหรับผู้ที่มีอาการกลัวการเข้าสังคมนะครับ