September 28, 2017 Editorial

สำรวจผู้สูงอายุใกล้ตัวคุณ กับ 10 สัญญาณเตือนของโรค พาร์กินสัน

พาร์กินสัน เป็นโรคที่ส่วนใหญ่แล้วเกิดกับผู้สูงอายุ โดยเป็นโรคที่พบบ่อยเป็นอันดับสองรองจากโรคอัลไซเมอร์ แต่โรคพาร์กินสันก็สามารถเกิดในคนวัยผู้ใหญ่ที่อายุยังไม่มากก็ได้เช่นกัน

โรคนี้เกิดจากการค่อยๆ เสื่อมของเซลล์ประสาทในก้านสมองส่วนกลาง ที่ทำหน้าที่ควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกาย โดยการตายของเซลล์สมองในผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน มักจะเกิดขึ้นอย่างน้อย 4-10 ปี ก่อนที่ผู้ป่วยจะเริ่มมีความผิดปกติในการเคลื่อนไหวร่างกาย ซึ่งผู้ป่วยและคนรอบข้างก็อาจมองอาการเหล่านี้ว่า เป็นความผิดปกติของร่างกายตามอายุขัย ซึ่งแท้จริงแล้วอาจมาจากโรค พาร์กินสัน ก็ได้ครับ

มีหลักฐานจากงานวิจัยหลายชิ้นที่ชี้ว่า การรับรู้ถึงอาการของโรคพาร์กินสันตั้งแต่เริ่มแรกส่งผลต่อการดูแลและรักษาผู้ป่วยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ เพราะฉะนั้นหากมีผู้สูงอายุหรือผู้ที่อายุเกิน 65 ปี อยู่ในบ้าน ก็อย่าลืมสังเกตอาการต่อไปนี้ ที่อาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคพาร์กินสันได้นะครับ

 

1.อาการสั่น

ร่างกายมีอาการสั่นเล็กน้อยจนไปถึงสั่นอย่างรุนแรง หรือกระตุก เช่นคาง ปาก นิ้วมือ หรือมือ หรือบางครั้งขาก็สั่นเองเมื่อนั่งพักผ่อนในท่าปกติ ซึ่งการสั่นหรือการกระตุกของแขนขาเป็นสัญญาณแรกเริ่มของโรค พาร์กินสัน ครับ

ข้อสังเกต อาการสั่นที่ถือว่าปกติ คืออาการสั่นที่เกิดขึ้นหลังออกกำลังกายอย่างหนัก หรือจากอาการบาดเจ็บ หรือจากการกินยาบางชนิด

2.ลายมือเล็กลง

มีการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันในการเขียน ลายมือมีขนาดเล็กลงจากอดีตอย่างเห็นได้ชัด โดยเกิดจากความไม่ได้ตั้งใจ และจะสังเกตได้ว่าวิธีการที่เขียนต่างไปจากเดิม เช่น ขนาดตัวอักษรเล็กลง เขียนคำติดๆ กัน

ข้อสังเกต บางครั้งการเขียนสามารถเปลี่ยนแปลงได้เมื่อโตขึ้น แต่จะเปลี่ยนเมื่อเวลาผ่านไปและค่อยๆ เปลี่ยน ไม่เปลี่ยนอย่างฉับพลัน

3.ประสาทการรับรู้กลิ่นแย่ลง

ไม่ได้กลิ่นอาหารดีเหมือนเมื่อก่อน และมีปัญหาเกี่ยวกับการดมกลิ่นอาหาร

ข้อสังเกต การรับรู้กลิ่นสามารถเปลี่ยนแปลง หรือรับรู้ได้น้อยลงได้เมื่อเป็นหวัด หรือมีอาการคัดจมูก แต่จะกลับมาเป็นปกติเมื่ออาการดีขึ้น

4.มีปัญหาการนอน

มีการเคลื่อนไหวอย่างรุนแรงระหว่างการนอนหลับ บางคนเตะและชกไปรอบๆ เตียงในระหว่างที่กำลังหลับ บางคนอาจตกเตียง หรือเปลี่ยนท่านอนจากตอนเริ่มนอนไปมาก การเคลื่อนไหวขณะหลับเหล่านี้ก็อาจเป็นสัญญาณของโรคพาร์กินสันได้เช่นเดียวกันครับ

ข้อสังเกต หากแค่เป็นการพลิกตัวระหว่างการนอนหลับ ถือว่าเป็นเรื่องปกติ

5.มีปัญหาการเดินหรือการเคลื่อนไหว

มีความรู้สึกปวดแข็งๆ หรือเกร็งบริเวณขาและแขน บางครั้งเมื่อเคลื่อนไหว อาการเหล่านั้นก็จะหายไป แต่หากเคลื่อนไหวแล้วยังไม่หายไป นี่อาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคพาร์กินสันได้ครับ นอกจากนั้นหากสังเกตว่า เมื่อเดินแล้วแขนไม่แกว่ง หรือแขนดูแข็งอย่างไม่เป็นธรรมชาติ หรือเมื่อเดินแล้วเท้าไม่ค่อยยก ดูเหมือนเดินเท้าติดพื้น ก็เป็นสัญญาณเตือนของโรคพาร์กินสันเช่นเดียวกันครับ

ข้อสังเกต การบาดเจ็บที่แขนหรือไหล่ หรือเป็นโรคไขข้ออักเสบ อาจทำให้มีอาการแข็งหรือเกร็งได้เช่นกัน โดยไม่เกี่ยวกับโรคพาร์กินสัน

6.มีอาการท้องผูก

ถ้าหากมีอาการท้องผูกติดกันทุกวัน ก็อาจเป็นสัญญาณของโรคพาร์กินสันได้ครับ

ข้อสังเกต ถ้าร่างกายได้รับน้ำหรือเส้นใยอาหารไม่เพียงพอก็อาจทำให้ท้องผูกได้ รวมทั้งการใช้ยาบางชนิดก็อาจทำให้เกิดอาการท้องผูก ซึ่งหากไม่ได้เกิดจากสาเหตุเหล่านี้ อาการท้องผูกเป็นประจำอาจเป็นปัญหาสุขภาพที่เกิดจากโรคพาร์กินสันได้

7.พูดเสียงเบาและเสียงต่ำ

จากคนเคยพูดเสียงดังระดับปกติ กลายเป็นคนพูดเสียงเบาโดยไม่ได้ตั้งใจ ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะไม่รู้ตัว คิดว่าตัวเองพูดเสียงดังในระดับเดิม หรือบางคนมีเสียงแหบ

ข้อสังเกต การมีไข้ หรือติดเชื้อไวรัสบางชนิด อาจจะทำให้เสียงแหบ หรือเสียงเปลี่ยนไปได้ แต่ก็จะกลับมาเป็นปกติเมื่อหายป่วย ในขณะที่อาการของโรคพาร์กินสันเสียงจะเปลี่ยนอยู่ตลอด แม้จะเป็นไข้หรือไม่ได้เป็น

8.สีหน้าไม่ปกติ

ใบหน้าของผู้ที่มีอาการพาร์กินสัน จะดูหดหู่ เศร้า โกรธ อยู่บ่อยๆ หรือแทบตลอดเวลา แม้ว่าจะไม่ได้อยู่ในอารมณ์เหล่านั้นก็ตาม หรือบางครั้งอาจสังเกตเห็นว่า ผู้ที่เป็นโรคจะจ้องความว่างเปล่า หรือไม่ค่อยกระพริบตา

ข้อสังเกต ยาบางชนิดอาจทำให้ผู้ป่วยมีสีหน้าตึงเครียดหรือไม่ค่อยกะพริบตาได้เช่นกัน แต่จะกลับมาเป็นปกติเมื่อหยุดใช้ยา

9.อาการวิงเวียนศีรษะหรือเป็นลม

การวิงเวียนศีรษะ หรือเป็นลมบ่อยๆ เป็นอาการของความดันโลหิตต่ำ ซึ่งอาจจะเกี่ยวข้องกับโรคพาร์กินสันได้

ข้อสังเกต การรู้สึกเวียนหัวเมื่อยืนขึ้นอย่างกะทันหัน หรือการนั่งในที่ซึ่งโคลงเคลง ก็อาจทำให้เวียนหัวได้ ถือเป็นเรื่องปกติ แต่หากเป็นในสถานการณ์ปกติบ่อยครั้ง ควรไปพบแพทย์ครับ

10.ทรงตัวได้ไม่ดี

จะสังเกตได้ว่าผู้ที่เป็นโรคพาร์กินสัน จะมีลักษณะการยืนที่ทรงตัวได้ไม่ค่อยดี จะมีการเอียง งอตัว คล้ายหลังค่อม

ข้อสังเกต อาการบาดเจ็บหรืออาการป่วย อาจทำให้การทรงตัวในขณะยืนไม่ค่อยดีได้ แต่หากไม่มีอาการบาดเจ็บหรือป่วย อาจเป็นสัญญาณหนึ่งของโรคพาร์กินสันได้ครับ

หากผู้สูงอายุรอบตัวของคุณ มีสัญญาณอาการเหล่านี้มากกว่า 3 ข้อ ควรปรึกษาแพทย์เฉพาะทางด้านประสาทวิทยา เพื่อวางแผนการรักษาและการดูแลสุขภาพตั้งแต่เนิ่นๆ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และช่วยเหลือตัวเองได้นานขึ้นครับ โดย See Doctor Now มีแพทย์เฉพาะทางด้านประสาทวิทยา พร้อมให้คำปรึกษาในเรื่องนี้อยู่ครับ

 

Source : www.parkinson.org/understanding-parkinsons/10-early-warning-signs

,