February 16, 2018 SDN_Editorial

ตรวจไฝมะเร็งเบื้องต้นด้วยตนเอง

 

ผิวหนังก็เหมือนกับอวัยวะอื่นๆ ในร่างกายที่สามารถเกิดมะเร็งได้ และในมะเร็งทุกชนิด หากตรวจพบตั้งแต่ระยะเนิ่นๆ จะช่วยให้การรักษาได้ผลดีขึ้น ลดโอกาสการเสียชีวิต

โรคมะเร็งผิวหนังมีหลายชนิด ขึ้นกับชนิดของเซลล์ที่กลายพันธุ์ ในที่นี่ หมอฟ้า ชลธิรศน์ แพทย์ผิวหนังประจำ See Doctor Now จะมาพูดถึง Melanoma หรือ ไฝมะเร็ง กันครับ

ไฝมะเร็ง พบบ่อยไหม?

ไฝมะเร็งพบได้บ่อยในฝรั่งผิวขาว ชาวเอเชียถึงแม้พบไฝมะเร็งได้ไม่บ่อยแต่ก็สามารถพบได้ โดยเฉพาะบริเวณ มือ เท้า เล็บ

 

วิธีตรวจไฝมะเร็งด้วยตนเอง

1.ทำเป็นประจำให้เป็นนิสัย

ควรตรวจและสังเกตการเปลี่ยนแปลงของไฝตามร่างกายเป็นประจำทุกเดือนให้เป็นนิสัย อาจกำหนดเพื่อความมีวินัย เช่น จะตรวจดูทุกวันที่ 1 ของทุกเดือน

2.มองหาไฝ ABCDE

มองหาไฝที่มีลักษณะต่อไปนี้ เพราะถือว่าเป็นไฝต้องสงสัย ถ้าหากพบควรปรึกษาแพทย์

A – Asymmetry คือไฝมีรูปร่างไม่สมมาตร

B – Border คือ ขอบไม่เรียบ ขอบขรุขระ

C – color คือ สีของไฝไม่สม่ำเสมอ สีไม่เท่ากันบางส่วนเข้มบางส่วนจาง

D – diameter ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางมากกว่า 6 mm หรือประมาณก้นยางลบดินสอ

E – evolving ไฝที่มีการพัฒนา หรือที่มีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ

3. ตรวจดูตั้งแต่หัวจรดเท้า

เนื่องจากไฝมะเร็งเกิดได้ทุกบริเวณ ทุกซอกหลืบในร่างกาย การจะตรวจให้ครบควรทำให้เป็นระบบ

  • เริ่มจากใบหน้า อย่าลืมดูริมฝีปาก หน้าด้านข้าง โดยใช้กระจกบานเล็กช่วย
  • แหวกผมดูหนังศีรษะ
  • ตรวจมือ ฝ่ามือ ง่ามนิ้วสองข้าง
  • ข้อศอกลำตัวด้านข้างรักแร้สองข้าง
  • อก ลำตัวด้านหน้า
  • หลัง คอด้านหลัง ต้นแขนด้านหลัง
  • ใช้กระจกบานเล็กช่วยดูสะโพก ขาด้านหลัง
  • นั่ง สำรวจดูขาและเท้า แม้แต่อวัยวะเพศก็ควรตรวจดูด้วย

หากมีผู้ช่วยตรวจก็จะทำให้สะดวกมากขึ้น แต่หากไม่มีก็สามารถใช้กระจกได้ โดยใช้กระจกบานใหญ่หนึ่งบาน และกระจกถือสำหรับส่องดูด้านหลัง

ในฝรั่งผิวขาวนั้น ไฝมะเร็งในผู้ชายพบบ่อยที่แผ่นหลัง ส่วนในผู้หญิงพบได้ที่ขาท่อนล่าง และหลัง ส่วนคนเอเชียพบบ่อยที่มือและเท้า แต่ที่จริงแล้วไฝมะเร็งสามารถพบได้ทุกบริเวณไม่เว้นแม้แต่ในลูกตาขาว เพราะฉะนั้นจึงไม่ควรละเลยและประมาท

 4. ตรวจพบและบันทึก

เมื่อตรวจพบไฝบนร่างกายที่ต้องสงสัย ควรบันทึกการเปลี่ยนแปลงไว้เป็นประจำทุกเดือน และหมั่นสังเกตให้รอบคอบแม้มีการเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อย เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการรักษา โดยบันทึกวันที่ตรวจพบ ขนาด และสี

6. ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

หากมีไฝผิดปกติหรือมีข้อต้องสงสัย ควรปรึกษาแพทย์เพื่อการตรวจเพิ่มเติม เพราะไม่ว่าไฝเหล่านั้นจะร้ายแรงหรือไม่ แต่หากเป็นไฝที่ต้องการการรักษา จะได้รักษาตั้งแต่เนิ่นๆ เพิ่มโอกาสการรักษาหายครับ

,