January 22, 2018 SDN_Editorial

ทำความรู้จักโรคลูคีเมีย มะเร็งเม็ดเลือดขาว

ขึ้นชื่อว่า “มะเร็ง” ฟังแล้วก็คงไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้นกับตัวเองหรือคนใกล้ตัว ไม่ว่าจะตรวจพบตอนไหนก็ฟังดูเป็นข่าวร้ายที่ไม่อยากได้ยิน หากเป็นมะเร็งที่อวัยวะใดอวัยวะหนึ่งบางครั้งถึงกับต้องตัดอวัยวะทิ้ง แล้วถ้าหากเป็นที่ “เม็ดเลือด” จะเป็นอย่างไร

ทำความเข้าใจบทบาทของเม็ดเลือด

ในเลือดของคนเรา นอกจากจะมีส่วนประกอบหลักที่เป็นน้ำเรียกว่าพลาสม่า ยังมีเม็ดเลือด 3 ชนิดที่ถูกสร้างขึ้นจากไขกระดูก

  • เม็ดเลือดแดง ทำหน้าที่นำออกซิเจนไปเลี้ยงร่างกาย
  • เม็ดเลือดขาว ทำหน้าที่ตรวจจับและต่อสู้กับเชื้อโรค สารพิษ รวมถึงสารแปลกปลอมที่เข้าสู่ร่างกาย
  • เกล็ดเลือด ทำหน้าที่ห้ามเลือด ทำให้เลือดแข็งตัวเมื่อมีบาดแผล

มะเร็งเม็ดเลือดขาวเกิดจากอะไร

มะเร็งเม็ดเลือดขาว หรือที่รู้จักอีกชื่อหนึ่งว่า ลูคีเมีย เกิดจากความผิดปกติของเซลล์เม็ดเลือดขาวตัวอ่อนในไขกระดูกที่มีมากกว่าปกติ และไม่สามารถพัฒนาเป็นเม็ดเลือดขาวตัวแก่ที่ทำหน้าที่แบบเม็ดเลือดขาวทั่วไปได้ นอกจากนี้เซลล์เม็ดเลือดขาวเหล่านี้ยังมีการแก่ตัวและตายช้ากว่าปกติ และไม่สามารถควบคุมได้ เซลล์สามารถแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่นๆ ได้อีกด้วย รวมทั้งแทรกซึมในไขกระดูก ทำลายกระบวนการสร้างเม็ดเลือดขาว เม็ดเลือดแดง และเกล็ดเลือดในไขกระดูก และทำให้เกิดอาการและภาวะแทรกซ้อนต่างๆ จนเป็นอันตรายถึงเสียชีวิต

สาเหตุการเกิด มะเร็งเม็ดเลือดขาว

ทางการแพทย์ยังไม่สามารถสรุปสาเหตุที่ทำให้เกิดมะเร็งเม็ดเลือดขาวที่แน่ชัดได้ แต่ได้มีการสันนิษฐานว่าส่วนหนึ่งมาจากปัจจัยทางพันธุกรรมร่วมกับปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม เช่น ผู้ที่มีพันธุกรรมเป็นดาวน์ซินโดรม และผู้ที่เคยมีญาติเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลันจะมีความเสี่ยงมากกว่าคนปกติ รวมถึงผู้ที่เคยได้รับเคมีบำบัดจากการป่วยเป็นมะเร็งชนิดอื่นๆ

นอกจากนั้นทางการแพทย์ยังสันนิษฐานว่าผู้ที่เป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวอาจเคยสัมผัสกับสารเคมีโดยตรง เช่น สารเบนซีน (Benzene) คลื่นไฟฟ้าแรงสูงจากเครื่องใช้ไฟฟ้า หรือเคยรับรังสีเป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นเรื่องที่ยังต้องรอการศึกษาตรวจสอบเพื่อยืนยัน

 

มะเร็งเม็ดเลือดขาวแบ่งออกเป็น 2 ชนิด

มะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเรื้อรัง

มะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเรื้อรัง (chronic leukemia) เกิดจากภาวะสมดุลของเลือดในร่างกายเปลี่ยนแปลงไปอย่างช้าๆ โดยที่ร่างกายยังสามารถสร้างเม็ดเลือดแดงและเกล็ดเลือดเพิ่มมากขึ้นได้ ทำให้ร่างกายไม่แสดงอาการที่ชัดเจน แต่ในขณะเดียวกันปริมาณเม็ดเลือดขาวที่ผิดปกติก็จะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนถึงระดับที่อันตรายต่อร่างกายในที่สุด

มะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลัน

โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลัน (Acute leukemia) เกิดจากการที่ร่างกายมีการสร้างเม็ดเลือดขาวมากกว่าปกติ เม็ดเลือดแดงออกมาน้อยลง เกล็ดเลือดต่ำในเวลาอันรวดเร็ว และยังถือเป็นมะเร็งชนิดที่พบมากและบ่อยในเด็ก

อาการของผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลัน

ระยะแรก ผู้ป่วยจะมีไข้เป็นระยะเวลานาน ปวดเมื่อยกระดูกและร่างกาย มีแผลในปาก น้ำหนักลด จากนั้นจะเริ่มมีอาการผิวซีดเหลือง มีจ้ำเขียวจ้ำแดงขึ้นตามตัว มีเลือดออกตามไรฟัน ประจำเดือนออกมากกว่าคนปกติ มีเลือดกำเดาไหล หรือกระทั่งการถ่ายอุจจาระเป็นเลือด ซึ่งเกิดจากการมีเกล็ดเลือดต่ำลง

ระยะต่อมาจะมีอาการปวดหรือเวียนศีรษะ ตาพร่ามัว ในบางคนอาจมีอาการชัก ซึ่งเป็นอาการทางสมองเข้าแทรกแซง และจะมีอาการปวดท้อง แน่นท้อง อาเจียน เนื่องจากอวัยวะภายใน เช่น ตับ ม้าม โตขึ้น

ผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลันควรได้รับการรักษาในเวลาที่เร็วที่สุด ซึ่งหากได้รับการรักษาที่เร็วพอมีโอกาสทำให้โรคสงบลงได้ถึง 70-80% ในกรณีผู้ป่วยที่อายุต่ำกว่า 60 ปี

แต่อย่างไรก็ตามควรติดตามผลและเฝ้าระวังอยู่ตลอดเวลา เพราะเมื่อเป็นครั้งหนึ่งแล้ว มีโอกาสที่จะเป็นยังอวัยวะอื่นๆ ได้อีก

 

สังเกตอาการ เพื่อการรักษาที่ทันเวลา

การสังเกตร่างกายถึงความผิดปกติต่างๆ ถือเป็นเรื่องที่จำเป็นเพราะจะทำให้รู้ทันสุขภาพของตัวเอง โดยส่วนใหญ่แล้วร่างกายมักจะมีสัญญาณเตือนถึงความผิดปกติที่เกิดขึ้น และในส่วนของสัญญาณเตือนโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว คือ

  • น้ำหนักลดอย่างกะทันหัน โดยที่ไม่ได้อดอาหาร และสุขภาพทรุดโทรมลงอย่างเห็นได้ ไม่มีเรี่ยวแรงทำกิจกรรมต่างๆ ที่เคยทำได้อย่างปกติ
  • เลือดออกตามอวัยวะต่างๆ โดยหาสาเหตุไม่ได้ เช่น เลือดออกตามไรฟัน เลือดกำเดาไหล เป็นประจำเดือนมากกว่าปกติ มีบาดแผลเพียงเล็กน้อยแต่เลือดไหลไม่ยอมหยุด
  • ผิวหนังเป็นจุดจ้ำ เป็นจุดสีแดง จะมีลักษณะกลมๆ จ้ำๆ เป็นวงกว้าง
  • มีอาการติดเชื้อบ่อยขึ้น อาจเกิดได้จากเซลล์เม็ดเลือดขาวมากกว่าปกติทำให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายลดลง
  • ปวดกระดูกและร่างกาย มีอาการปวดตามข้อ กระดูก อย่างต่อเนื่องและรุนแรงขึ้น โดยเป็นการเจ็บปวดขึ้นมาอย่างไม่มีสาเหตุ
  • มีปัจจัยเสี่ยง มีกรรมพันธุ์ที่เคยเป็นมะเร็งมาก่อน หรือทำงานอยู่ในสถานที่ที่มีสารพิษ การสูบบุหรี่ เคยได้รับการรักษาโรคจากรังสีหรือเคมีบำบัดมาก่อน

นอกจากหมั่นสังเกตร่างกายอยู่เสมอแล้ว การเข้ารับการตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปีก็ถือเป็นการป้องกัน และเฝ้าระวังโรคต่างๆ ได้อีกทางหนึ่ง

 

ยิ่งพบแพทย์เร็ว ยิ่งมีโอกาสในการรักษา

คำถามที่มักจะเจอบ่อยเมื่อพบว่าเป็นโรคร้ายโดยเฉพาะมะเร็งคือ จะรักษาหายหรือไม่ ซึ่งคำตอบของการรักษามะเร็งเม็ดเลือดขาวคือมีโอกาสรักษาให้หายได้หากได้รับการรักษาที่ทันเวลาและเหมาะสมกับภาวะของโรค ซึ่งมีโอกาสถึง 70-85% แต่ยังมีปัจจัยอื่นๆ ประกอบด้วย เช่น ระยะความรุนแรงของโรค จำนวนความผิดปกติของเกล็ดเลือดและเม็ดเลือด

ในการรักษา อย่างแรกคือรักษาตามอาการที่เกิดขึ้นก่อนเพื่อให้ร่างกายแข็งแรงพอที่จะทำการรักษาในขั้นต่อไป

  • คีโมหรือเคมีบำบัด ทำโดยการฉีดหรือการกิน แบ่งการให้คีโมเป็น 4 ระยะ คือ

           –  ระยะทำลายมะเร็ง

           –  ระยะป้องกันการเพิ่มของมะเร็ง

           –  ระยะป้องกันการแพร่กระจายของมะเร็งไปยังสมอง

           –  ระยะควบคุมให้มะเร็งสงบ

ซึ่งหากรักษาถึงระยะควบคุมแล้วก็ยังควรมาพบแพทย์ตามนัดอยู่เสมอ เพราะมีความเสี่ยงที่จะกลับไปเป็นได้อีกถึง 30-35% และการรักษามีผลข้างเคียงคือ จะมีอาการคลื่นไส้อาเจียน เบื่ออาหาร ผมร่วง และอาจเป็นหมัน

  • รังสีบำบัด โดยแบ่งเป็น 2 กรณี ฉายรังสีฆ่าเซลล์มะเร็งเพื่อเตรียมปลูกถ่ายไขกระดูก หรือฉายรังสีที่ม้ามซึ่งเป็นอวัยวะศูนย์รวมของมะเร็งเม็ดเลือด
  • การปลูกถ่ายไขกระดูก ทำหลังการให้เคมีบำบัดร่วมกับรังสีเพื่อทำลายเซลล์มะเร็ง จากนั้นจึงนำไขกระดูกของคนปกติถ่ายเข้าไป เพื่อให้ผู้ป่วยสร้างเม็ดเลือดที่เป็นปกติได้เอง ผลข้างเคียงคือเสี่ยงต่อการติดเชื้อ
  • การสร้างภูมิคุ้มกัน วิธีนี้สามารถใช้ได้กับเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดบางชนิด โดยไปกระตุ้นให้ภูมิคุ้มกันในร่างกายต่อต้านเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดนั่นเอง

การสังเกตความเปลี่ยนแปลงของร่างกายอยู่เสมอเป็นสิ่งสำคัญ ทั้งในผู้ที่สุขภาพดีและผู้ป่วย นอกจากนั้นไม่ควรละเลยการเข้าปรึกษาแพทย์ถึงอาการต่างๆ เพื่อที่จะสามารถรักษาได้ทันเวลาหากพบว่ามีความผิดปกติ

 

 

 

ข้อมูลจาก : “Leukaemia.” Leukaemia Care. http://www.leukaemiacare.org/category/leukaemia/. Accessed January 2018

“โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว (Leukemia)” Thai Breast Cancer. http://www.thaibreastcancer.com/973/. Accessed January 2018

 

, , , ,