August 25, 2017 Editorial

รับมือกับทุกอาการเจ็บป่วยได้ง่ายขึ้น ได้เวลาของ Telemedicine แล้ว

เรื่องเจ็บไข้ได้ป่วยไม่เข้าใครออกใคร และส่วนใหญ่ก็มักจะมาแบบไม่คาดคิด หรือที่ร้ายกว่านั้นก็คือมาในจังหวะเวลาที่ชวนให้ตึงเครียด อย่างเช่นเวลาเดินทาง หรือเวลาที่ต้องอยู่ไกลบ้าน หรือบางทีมันก็อาจไม่หนักหนาอย่างที่คุณคิด แต่ก็อาจจะดีกว่า หากได้รับคำปรึกษาจากผู้ที่รู้จริง ซึ่งจะช่วยให้คลายกังวล Telemedicine.

เมื่อก่อนเราคงได้แต่ฝันไปว่า เราจะสามารถรับมือกับทุกปัญหาสุขภาพของเราเหล่านี้ได้ทุกเมื่อที่ต้องการ ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็ตาม

แต่เทคโนโลยีสมัยใหม่ก็ทำให้ความต้องการของเราเป็นจริงได้แล้ว และในรูปแบบที่สอดคล้องต้องกันกับไลฟ์สไตล์ของคนยุคใหม่เช่นเราด้วยระบบที่เรียกว่า Telemedicine

Telemedicine อาจไม่ใช่คำใหม่ อาจไม่ใช่ระบบที่เพิ่งอุบัติขึ้นมาในโลกหรือในประเทศไทย แต่วิวัฒนาการของ Telemedicineหรือที่เรียกกันว่า “ระบบแพทย์ทางไกล” บ้าง “โทรเวชกรรม” บ้าง ในวันนี้ มันก้าวมาไกลเกินกว่าที่ทุกคนเคยรู้จัก และกลายมาเป็นคำตอบของปัจจุบันและอนาคต ที่เป็นจริงแล้วสำหรับทุกคน

มาทำความรู้จักกับ Telemedicineไปกับเรา เราเชื่อว่ายังมีอีกหลายอย่างที่คุณยังรู้จักมันไม่ดีพอ แต่ถ้าคุณรู้จักดีพอแล้ว คุณจะรู้ได้ทันทีว่า นี่คือระบบการดูแลสุขภาพยุคใหม่ที่จะทำให้ชีวิตคุณง่ายขึ้น แข็งแรงขึ้น และมีความสุขมากขึ้น

 

Telemedicine คืออะไร?

Telemedicine หรือ ระบบแพทย์ทางไกล  เป็นการผนวกกันระหว่างเทคโนโลยีสารสนเทศ และงานทางการแพทย์ เพื่อให้บริการแก่ผู้ป่วยได้อย่างไร้ข้อจำกัดในเรื่องเวลาและสถานที่

ตามคำจำกัดความขององค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) นั้น คำว่า “การแพทย์ทางไกล” หรือ Telemedicineหมายถึง การจัดให้บริการด้านสาธารณสุขแก่ประชาชนที่อยู่ห่างไกล โดยบุคลากรผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ อาศัยเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการวินิจฉัย การรักษา และการป้องกันโรค รวมถึงการศึกษาวิจัย และเพื่อประโยชน์สำหรับการศึกษาต่อเนื่องของบุคลากรทางการแพทย์

 

 

Telemedicine จากอดีตสู่ปัจจุบัน

ในอดีต Telemedicineมักจะใช้เพื่อสื่อสารกันระหว่างแพทย์ซึ่งอยู่คนละสถานที่ เพื่อปรึกษาพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและข้อเสนอแนะในการรักษาคนไข้ ผ่านเครื่องมือต่างๆ ตามยุคสมัย อย่างการใช้วิทยุสื่อสาร โทรเลข โทรศัพท์ อีเมล หรือการส่งข้อความ

ในเมืองไทยเองก็เริ่มมีระบบแพทย์ทางไกลมาหลายสิบปีแล้ว โดย นพ.มานิตย์ ประพันธศิลป์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ครอบครัว และเวชศาสตร์ป้องกัน หนึ่งในผู้ก่อตั้งรุ่นแรกๆ ของ “มูลนิธิแพทย์ชนบท” ผู้ซึ่งมีประสบการณ์จริงในเรื่องการรักษาพยาบาลในพื้นที่ห่างไกล เล่าถึงระบบแพทย์ทางไกลในอดีตว่า เมื่อหลายสิบปีก่อน พื้นที่ในชนบทมักไม่มีแพทย์ประจำ มีเพียงบุคลากรทางการแพทย์ระดับต้นประจำอยู่ จึงได้มีการจัดหาเครื่องมือการสื่อสาร เช่น วิทยุสื่อสาร สำหรับพูดคุยกับแพทย์ โดยบุคลากรในพื้นที่จะซักถามอาการและตรวจคนไข้ตามคำแนะนำของแพทย์  แพทย์จะทำการวินิจฉัยและให้คำแนะนำในการรักษาผู้ป่วยแก่บุคลากรในพื้นที่ วิธีนี้ทำให้สามารถแก้ปัญหาและเพิ่มคุณภาพบริการได้ระดับหนึ่ง ดังกรณีของโครงการวิทยุภายใต้แพทย์อาสาในสมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาลย์ (พอสว)

จนกระทั่งในปัจจุบันเมื่อพัฒนาการทางด้านการเทคโนโลยีการสื่อสารเป็นไปอย่างก้าวกระโดด ทำให้เกิดรูปแบบการสื่อสารที่สามารถเห็นหน้าในขณะพูดคุยกัน หรือระบบวิดีโอคอลล์ ซึ่งไม่ว่าคุณจะอยู่ที่ไหนก็ตามบนโลกใบนี้ ถ้าสามารถเข้าถึงอินเตอร์เน็ต คุณก็จะสามารถพูดคุยโต้ตอบกับใครก็ได้ในแบบ Real-time ระบบแพทย์ทางไกลหรือ Telemedicineก็ก้าวหน้าขึ้นไปอย่างก้าวกระโดดเช่นกัน

นั่นก็คือทำให้ไม่เพียงแต่บุคลากรทางการแพทย์จะสื่อสารกันเอง แต่คนทั่วไปยังสามารถสื่อสารกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้โดยตรง ด้วยระบบวิดีโอคอลล์ที่ทั้งเห็นหน้าและได้ยินเสียง เสมือนหนึ่งได้ปรึกษากับแพทย์ที่โรงพยาบาลโดยตรง โดยที่ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องเดินทางไปโรงพยาบาลเลย

 

Telemedicine ดียังไง?

อย่างแรกเลย คุณรู้หรือไม่ว่าบางครั้งการไปโรงพยาบาลของคนเรานั้นไม่จำเป็นเลย การศึกษาในสหรัฐฯ เมื่อปี 2013 โดย Truven Health Analytics ระบุว่า 71% ของผู้ป่วยที่เข้าห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลนั้น ไม่มีความจำเป็นแต่อย่างใดเลย

พูดอีกอย่างก็คือ มีการเจ็บป่วยหลายอย่างที่ไม่จำเป็นต้องไปโรงพยาบาล การได้รับคำปรึกษาผ่านวีดีโอคอลก็เพียงพอแล้ว

ไม่เพียงแต่ Telemedicineจะลดความแออัดที่ไม่จำเป็นของโรงพยาบาลแล้ว ระบบนี้ยังมีประโยชน์โดยตรงต่อทุกคน ไม่ว่าจะเป็นผู้ป่วย หรือไม่เป็นผู้ป่วย แต่ต้องการแสวงหาแนวทางในการดูแลสุขภาพที่เหมาะสมและถูกต้อง

และนี่คือหลากหลายประโยชน์ที่คุณยังไม่รู้เกี่ยวกับ “Telemedicine”

1. สามารถปรึกษาแพทย์จากที่ไหนก็ได้

เนื่องจากเป็นการใช้เทคโนโลยีในการพบแพทย์ จึงทำให้ข้อจำกัดเรื่องสถานที่หมดไป และทำให้ผู้ป่วยสามารถหาปรึกษาและพูดคุยกับแพทย์จากที่ไหนก็ได้ ซึ่งจะเหมาะกับผู้ป่วยที่ไม่สะดวกเดินทาง อยู่ไกลจากสถานพยาบาล หรือผู้ป่วยในโรคเรื้อรังที่อาการหนัก

2. ลดค่าใช้จ่ายและเวลาในการเดินทาง

เมื่อไม่จำเป็นต้องไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาล จึงทำให้ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องเดินทาง ซึ่งจะเป็นการช่วยประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นได้ครับ เพราะจะเห็นได้ว่าในกรุงเทพฯ แม้ว่าระยะทางระหว่างจากบ้านไปโรงพยาบาลจะไม่ไกลมากนัก แต่บางครั้งการจราจรก็ทำให้ผู้ป่วยแทบจะป่วยมากกว่าเดิม หรือผู้ป่วยในต่างจังหวัดที่บางครั้งต้องเดินทางไกลไปโรงพยาบาลใหญ่ในตัวจังหวัด รวมถึงค่าใช้จ่ายแฝงอื่นๆ อีกมากมายเช่นค่าอาหาร หรือค่าเสียเวลา

3. เข้าถึงแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้ง่ายขึ้น

การเข้าถึงแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ หรือแพทย์เฉพาะทางไม่ได้เป็นปัญหาใหญ่ต่อสุขภาพอย่างหนึ่งครับ แต่ในทั่วไปแพทย์ผู้เชี่ยวชาญแพทย์เฉพาะทางกระจายอยู่ในโรงพยาบาลในสัดส่วนที่ไม่เท่ากัน และมีจำนวนจำกัด บางครั้งอาจจะทำการนัดพบและรอเป็นระยะเวลานาน การนำระบบแพทย์ทางไกลมาใช้จะทำให้ผู้ป่วยได้เข้าถึงแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางได้ง่ายขึ้น และทำได้อย่างรวดเร็ว ผ่านระบบวีดีโอคอล หรือระบบต่างๆ ตามสะดวกในขณะนั้น ซึ่งจะช่วยให้การรักษาทำได้โดยทันทีและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

4. สามารถนัดแพทย์ได้ตามเวลาที่สะดวก

ในชีวิตที่ต้องเร่งรีบ หรือยากยุ่ง บางครั้งถึงแม้จะมีอาการป่วยก็ทำให้ไม่สามารถปลีกตัวไปหาหมอได้ แต่เมื่อมีการแพทย์ทางไกล สิ่งเหล่านั้นก็จะทำได้ง่ายเมื่อเพราะผู้ป่วยสามารถทำการนัดกับหมอก่อนได้เพื่อหาเวลาที่สะดวกทั้งสองฝ่ายในการพูดคุยปรึกษา และจะทำให้ผู้ป่วยเลือกเวลาเองได้ ทำให้ไม่ต้องเสียเวลาในการทำงานหรือการใช้ชีวิตด้านอื่นๆ

5. รับคำปรึกษากับแพทย์ก่อนตัดสินใจไปโรงพยาบาล

ในบางครั้งผู้ป่วยเองก็ไม่แน่ใจในอาการป่วยของตัวเอง หรือมีข้อสงสัยในอาการต่างๆ แต่ไม่แน่ใจว่าควรทำอย่างไรดี หรือควรไปโรงพยาบาลหรือไม่ การพบแพทย์ผ่าน Telemedicineก่อนสามารถให้คำปรึกษาซึ่งช่วยในการตัดสินใจได้ครับ หากไม่จำเป็นต้องไปโรงพยาบาลจะช่วยให้ผู้ป่วยไม่เสียเวลาและสามารถรักษาได้เลยในขณะนั้น

6. รับคำปรึกษากับแพทย์เป็นความเห็นที่สอง

กรณีที่ผู้ป่วยไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลมาแล้ว แต่ยังมีข้อสงสัยใดๆ หรือบางครั้งผู้ป่วยเกิดความไว้เชื่อใจในแพทย์ที่ให้การรักษา จึงอยากจะพบแพทย์ท่านอื่นซึ่งก็ถือว่าทำได้ในสิทธิของผู้ป่วยครับ แต่การกลับไปโรงพยาบาลเพื่อรับคำปรึกษาอีกครั้งก็อาจเป็นเรื่องยุ่งยาก การใช้ Telemedicineจะทำให้ง่ายขึ้น ในการรับคำปรึกษาจากแพทย์ท่านอื่นเป็นความเห็นที่สองของแพทย์ครับ

7. ช่วยให้ติดตามผลดูแลผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพ

การแพทย์ทางไกลช่วยให้ผู้ให้บริการติดตามผู้ป่วยได้ง่ายขึ้น โดยที่ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องมาตรวจดูที่โรงพยาบาล แพทย์สามารถใช้ระบบเพื่อตรวจและตามผลผู้ป่วยได้จากระยะไกล ผ่านระบบวีดีโอคอลเพื่อสำรวจอาการและเพื่อตอบคำถามต่างๆ รวมถึงหากมีข้อปฏิบัติต่างๆ ปลีกย่อยเพิ่มเติมในผู้ป่วยเรื้อรังก็สามารถให้คำปรึกษาได้ และจะนำมาซึ่งการดูแลรักษาที่ดีขึ้น

8. ไม่ต้องเผชิญกับความแออัดของสถานพยาบาล

การไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลในบางครั้งผู้ป่วยจะต้องไปตั้งแต่เช้าตรู่ และต้องใช้เวลารอคอยเป็นเวลานาน พื้นที่ของโรงพยาบาลบางที่ก็มีจำกัดทำให้เกิดความแออัดของผู้ป่วยและญาติ และพบว่าบางครั้งการมารอพบแพทย์ของผู้ป่วยบางรายมีอาการอ่อนเพลียมากกว่าเดิม ซึ่งอาจเป็นผลมาจากความแออัดที่โรงพยาบาลได้ครับ

9. ทำให้มีสุขภาพที่ดีขึ้น

เมื่อไปสามารถพบแพทย์ได้บ่อยเท่าที่ต้องการ โดยไม่ต้องกังวลกับปัญหาต่างๆ ที่อาจตามมา ก็ทำให้ข้อสงสัยหรืออาการเจ็บป่วยจากปัญหาสุขภาพหมดไป และทำให้มีสุขภาพขึ้นได้

 

 

เลือกใช้ให้เหมาะ

อย่างไรก็ตาม Telemedicineก็มีข้อจำกัดในการใช้เช่นกัน อย่างในกรณีฉุกเฉิน แพทย์ไม่สามารถทำการปฐมพยาบาลเบื้องต้นให้แก่ผู้ป่วยได้ แต่ก็สามารถให้คำปรึกษาระหว่างนั้นได้  และหากมีการต้องตรวจร่างกาย ผู้ป่วยก็ควรไปตรวจที่โรงพยาบาล เพราะจำเป็นต้องใช้เครื่องมือ แต่การได้ปรึกษาแพทย์ก่อน แพทย์ก็จะสามารถให้คำแนะนำได้ว่า คุณควรต้องตรวจร่างกายในด้านใด และเร่งด้วนขนาดไหน

การปรึกษาแพทย์ผ่านทาง Telemedicineอาจจะมีข้อจำกัดในการรักษา แต่ในเรื่องของการให้คำปรึกษาและให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเหมาะสมนั้น ระบบการแพทย์ทางไกลสามารถช่วยทุกคนได้แบบไร้ข้อจำกัด เพื่อนำไปสู่การตัดสินใจที่เหมาะสมในการจัดการกับสุขภาพของเราทุกคน โยไม่ต้องคาดเดาเอาเอง หรือรับฟังจากแหล่งข้อมูลที่ไม่น่าเชื่อถือ ซึ่งแพร่กลายกันอย่างมากเนื่องมากจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีการสื่อสารนี่แหละ

เพราะฉะนั้นระบบการแพทย์ทางไกลนี้จะเป็นคุณประโยชน์ขนาดไหน ก็อยู่ที่การเลือกใช้ของเราเอง

แต่อย่างน้อยการได้รู้ข้อมูลหรือรับคำปรึกษาที่ถูกต้องโดยไม่ต้องพึ่งพา “ด็อกเตอร์กูเกิล” ก็น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่าสำหรับทุกคนนะครับ

หรือสำหรับคนที่อยู่ไกลบ้าน ไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยวชั่วคราว หรือการไปอยู่เป็นเวลานาน ยามเจ็บป่วย การได้พูดคุยปรึกษากับแพทย์ไทย พูดภาษาไทย ก็น่าจะเป็นการเพิ่มความอุ่นใจให้มากขึ้นว่า สามารถสื่อสารในสิ่งที่เกิดขึ้นได้อย่างตรงจุดแน่นอน

เลือกใช้ให้เหมาะ แล้วคุณจะรู้ว่า Telemedicine จะทำให้ชีวิตคุณง่ายขึ้นและมีความสุขมากขึ้นอย่างแน่นอนครับ

, ,