August 2, 2017 Editorial

4 ปัญหาสุขภาพ ทางเดินปัสสาวะ ที่ผู้หญิงพบกันบ่อยที่สุด

ทางเดินปัสสาวะ เป็นระบบขับถ่ายของร่างกาย ที่ถูกออกแบบมาเพื่อขจัดของเสียและสารพิษ (หรือเป็นการทำความสะอาดตามธรรมชาติตามปรกติของคุณ) โชคไม่ดีที่ผู้หญิงมักมีปัญหาเกี่ยวกับทางเดินปัสสาวะมากกว่าผู้ชาย ซึ่งเป็นผลมาจากความแตกต่างทางกายภาพ การเปลี่ยนแปลงทางฮอร์โมนและผลกระทบจากการตั้งครรภ์และคลอดบุตร แต่อย่ากังวลใจ นี่คือทุกสิ่งที่คุณต้องรู้เพื่อรับมือกับทุกปัญหาเกี่ยวกับการ “ฉี่” ของคุณ

 

 

1.กลั้นปัสสาวะไม่อยู่

ข้อเท็จจริง : ประมาณหนึ่งในสี่ของผู้หญิงอาจจะปัสสาวะรั่วได้ ถ้าไม่รีบไปเข้าห้องน้ำ สาเหตุทั่วไปส่วนใหญ่คืออะไร? การตั้งครรภ์และการออกกำลังหนักๆ โดย น.พ.คอสต้า อพอสโตลิส ผู้อำนวยการและหัวหน้าฝ่ายศัลยกรรมเสริมสร้างกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานในผู้หญิง แห่งศูนย์การแพทย์อาครอนในโอไฮโอ สหรัฐฯ ให้อรรถาธิบายว่า น้ำหนักที่เพิ่มขึ้นระหว่างตั้งครรภ์จะสร้างความเครียดให้กับกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน แล้วการคลอดก็จะคลายพวกมันออก ทำให้เกิดการฉีกขาดที่อาจนำไปสู่โรคทางเดินปัสสาวะอักเสบได้

แต่คุณก็อาจจะเป็นได้แม้จะไม่เคยมีลูก เนื่องจากระดับของเอสโตรเจนจะลดลงเมื่อเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน กล้ามเนื้อทางเดินปัสสาวะก็จะอ่อนแอลง จึงอาจจะทำให้เกิดการปัสสาวะเล็ดได้ และการทำกิจกรรมหนักๆ เช่น วิ่ง หรือเข้าคลาสออกกำลังที่มีการบริหารกล้ามเนื้อต้นขาและการยกน้ำหนักจำนวนมาก ก็จะเพิ่มความเครียดให้กับกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานและทำให้ปัญหาแย่ลงได้เช่นกัน

เป็นยังไง :  การไอ การจาม การหัวเราะ การบริหารกล้ามเนื้อต้นขา หรือการยกน้ำหนักเป็นสิ่งที่เพิ่มความเครียดให้แก่กระเพาะปัสสาวะ จนนำไปสู่การเล็ดของปัสสาวะได้  ซึ่งอาจจะน้อยแค่หยดสองหยด หรืออาจจะมากจนพุ่งออกมาก็ได้

คำแนะนำ: ไปหาสูตินรีแพทย์ของคุณ เธออาจจะแนะนำให้บริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานเพื่อกระชับกล้ามเนื้อ ถ้าคุณเกิดการปัสสาวะเล็ดระหว่างการออกำลังกาย หมออาจจะสั่งให้ใช้อุปกรณ์ที่เรียกว่าอุปกรณ์พยุงช่องคลอด (Pessary สำหรับใช้สอดเข้าไปในช่องคลอด) หรือใช้การผ่าตัดเพื่อพยุงกระเพาะปัสสาวะ

 

2.การติดเชื้อใน ทางเดินปัสสาวะ

ข้อเท็จจริง :  ต้นเหตุมาจากแบคทีเรีย เช่น อีโคไล ที่หลุดเข้าไปในทางเดินปัสสาวะ ซึ่งมักจะมาจากอุจจาระของคุณ ผลก็คือท่อไต ท่อปัสสาวะ ไต หรือกระเพาะปัสสาวะของคุณจะติดเชื้อ และผู้หญิงก็มักจะเป็นได้ง่ายเป็นพิเศษ ทำไมน่ะหรือ? พญ.เคิร์ตนี่ เค.มัวร์ ศัลยแพทย์จากคลิกนิกสถาบันวิจัยระบบปัสสาวะกริคแมนในคลีฟแลนด์ สหรัฐอเมริกา อธิบายว่า เพราะความใกล้ของลำไส้ใหญ่กับท่อปัสสาวะในผู้หญิง ทำให้ง่ายกว่าที่จะส่งผ่านแบคทีเรียไปยังกระเพาะปัสสาวะ

ความเสี่ยงที่จะได้รับการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะมักจะเกิดขึ้นในครอบครัว และคุณจะมีโอกาสเป็นมากขึ้นถ้าคุณมีคู่นอนหลายคน หรือมีเพศสัมพันธ์บ่อยเกินไป (น่าอิจฉาจัง!) และคุณอาจจะเริ่มเกิดการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะหลังวัยหมดประจำเเดือน เนื่องจากการลดลงของระดับเอสโตรเจนในระบบของคุณ เพราะเอสโตรเจนจะช่วยสร้างความเป็นกรดในช่องคลอด ซึ่งจะช่วยป้องกันแบคทีเรียที่ทำให้เกิดการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ

เป็นยังไง : อาการทั่วไปคือรู้สึกแสบระหว่างฉี่และหลังฉี่ คุณยังอาจจะรู้สึกเหมือนอยากเข้าห้องน้ำตลอดเวลา แต่ก็มีน้ำปัสสาวะออกมาในปริมาณน้อย

คำแนะนำ :  ไปพบหมอทันที ถ้าปล่อยไว้โดยไม่ได้รักษาหลายวัน การติดเชื้ออาจจะแพร่กระจายไปยังไต จนอาจทำให้เกิดความเสียหายอย่างถาวรได้ หมอมักจะให้คุณใช้ยาปฏิชีวนะ และถ้าคุณเจ็บปวดมากจริงๆ หมออาจจะให้คุณใช้ยาที่ทำให้กระเพาะปัสสาวะชา เช่น ไพรีเดียม

 

3.กระเพาะปัสสาวะทำงานมากเกินไป

ข้อเท็จจริง : กระเพาะปัสสาวะทำงานมากเกิน หรือเกิดการกลั้นไม่อยู่อย่างกะทันหัน ทำให้คุณปวดฉี่แล้วรู้สึกอยากไปเข้าห้องน้ำ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญอธิบายว่าเป็นพราะกล้ามเนื้อในกระเพาะเกิดการหดตัวอย่างไม่ตั้งใจ

เป็นยังไง :  คุณจะปวดฉี่อย่างกะทันหัน และต้องเข้าห้องน้ำบ่อยถึงแปดครั้งต่อวัน แม้ว่าจะไม่ได้ดื่มน้ำมาก

คำแนะนำ:  แนวทางแรกของการรักษา ให้ทำกายภาพบำบัดกล้ามเนื้อช่องคลอดและกลัามเนื้ออุ้งเชิงกราน เพื่อป้องกันปัสสาวะเล็ดออกมาจากกระเพาะปัสสาวะ หมอของคุณอาจจะแนะนำให้ฝึกกระเพาะปัสสาวะ ด้วยการชะลอการไปห้องน้ำเมื่อรู้สึกปวดฉี่ (อย่าลองทำเองโดยได้อยู่ในการดูแลของแพทย์) ถ้าไม่ได้ผล หมออาจจะสั่งให้ใช้ยาเพื่อลดการทำงานของกล้ามเนื้อกระเพาะ เพื่อให้ผ่อนคลายและเพิ่มความจุได้มากขึ้น และการฉีดโบท็อกซ์ก็อาจจะช่วยลดอาการลงได้ประมาณร้อยละ 50

 

4.กระเพาะปัสสาวะอักเสบเรื้อรัง

ข้อเท็จริง : สภาวะนี้มีอาการเหมือนกระเพาะปัสสาวะอักเสบ แต่จริงๆ แล้วไม่มีการติดเชื้อใดๆ กระเพาะปัสสาวะอักเสบเรื้อรังเกิดมากในผู้หญิงที่เคยเป็นกระเพาะปัสสาวะอักเสบ จนทำให้กระเพาะเป็นแผลและระคายเคือง จนเริ่มรู้สึกเจ็บ แม้จะไม่มีการติดเชื้อก็ตาม

เป็นยังไง : เจ็บอุ้งเชิงกรานและรู้สึกปวดฉี่ตลอดเวลา

คำแนะนำ : หมอของคุณจะนำตัวอย่างปัสสาวะไปตรวจหาการติดเชื้อ ถ้าจำเป็น หมออาจจะทำการเจาะเลือดเพื่อตรวจเยื่อบุกระเพาะปัสสาวะ การตรวจอีกแบบหนึ่งคือการส่องกล้อง คือการใช้กล้องสอดเข้าไปทางท่อปัสสาวะ การรักษามักจะเกี่ยวกับการหลีกเลี่ยงอาหารที่ทำให้อาการแย่ลง เช่น คาเฟอีนหรืออาหารที่เป็นกรด การบริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน (Kegel) ก็ช่วยได้เช่นกัน ถ้าวิธีเหล่านี้ไม่ได้ผลหมอ อาจจะสั่งให้คุณใช้ยาเอลมิรอน (Elmiron) ซึ่งเป็นยาที่ช่วยซ่อมแซมเยื่อบุกระเพาะปัสสาวะ

 

นอกจากทางเดินปัสสาวะที่ควรระวังแล้ว ยังมี มะเร็งเต้านม กับทุกสิ่งที่ผู้หญิงควรรู้ ที่เป็นอีกหนึ่งปัญหาสุขภาพของผู้หญิงที่ควรระวังครับ

, , ,