October 16, 2017 Editorial

สุขภาพใจเป็นอย่างไร สุขภาพกายเป็นอย่างนั้น

“ความผิดปกติทางจิตใจที่ไม่ได้รับการรักษา สามารถทำให้เกิดโรค อาการบาดเจ็บ และการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรได้”

ประโยคข้างต้นนี้มาจากการศึกษาวิจัย โดยนพ.มาร์ติน พรินซ์ ผู้อำนวยการศูนย์สุขภาพจิต ที่ King’s College London และทีมงานของเขา


เคยสังเกตมั้ยครับว่าในคนสุขภาพดี ที่ออกกำลังกายเป็นประจำ ทานอาหารที่มีประโยชน์ มักจะมีสุขภาพจิตที่ดีด้วย ในขณะที่คนที่มีจิตใจไม่ปกติ อยู่ในอารมณ์เศร้า หดหู่ ก็จะมีสุขภาพกายที่ไม่ค่อยแข็งแรงเช่นกัน นั่นเป็นเพราะทั้งสุขภาพกายและสุขภาพใจของเรามีความเชื่อมโยงกัน เหมือนเช่นที่งานวิจัยชิ้นนี้ชี้ให้เห็นนั่นเอง

งานวิจัยนี้ยังระบุด้วยว่า องค์การอนามัยโลกได้ประเมินว่าประมาณ 14% ของการเกิดโรคต่างๆ มีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับความผิดปกติทางจิตเวชและระบบประสาท ซึ่งการวิจัยนี้พบว่า ความผิดปกติทางจิตมีผลกระทบมากกว่า

และจากการรีวิวผลการวิจัยล่าสุดหลายชิ้น นักวิจัยยังพบด้วยว่าความเจ็บป่วยทางจิตไม่ได้แยกจากความเจ็บป่วยทางกายโดยสิ้นเชิง แต่มีปฏิสัมพันธ์ที่ซับซ้อนอย่างมาก ระหว่างความผิดปกติทางจิตกับโรคต่างๆ

โดยความผิดปกติทางจิตเป็นปัจจัยเสี่ยงในการเกิดทั้งโรคติดต่อและโรคไม่ติดต่อ และมีส่วนทำให้เกิดการบาดเจ็บทั้งจากอุบัติเหตุ และไม่ใช่อุบัติเหตุ

หากนึกภาพไม่ออกว่า สุขภาพกายและใจเชื่อมโยงกันอย่างไร ลองนึกภาพพวกนี้ดูครับ ไม่ว่าจะเป็นการสูบบุหรี่ในคนที่มีความเครียด การไม่ทำกิจกรรมต่างๆ เมื่อรู้สึกหดหู่ หรือการรับประทานอาหารมากเกินไปหรือน้อยเกินไปในคนที่จิตใจไม่ปกติ นี่ยังเป็นแค่พฤติกรรมภายนอกที่ร่างกายส่งผลต่อจิตใจเท่านั้น ยังไม่รวมถึงการหลั่งสารต่างๆ ในร่างกาย เมื่อเกิดอารมณ์และความรู้สึกต่างๆ อีกด้วย

ยิ่งไปกว่านั้น สุขภาพจิตที่ไม่ดียังส่งผลให้มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดตีบ และพบว่าร่างกายของผู้ที่มีความผิดปกติทางจิต ยังมีภูมิต้านทานลดลง ส่งผลต่อการเยียวยาตัวเองของร่างกายต่อโรคบางอย่าง เช่น โรคเอดส์ โรคมาลาเรีย และวัณโรค ทำให้จำนวนผู้ป่วยและจำนวนผู้เสียชีวิต ทั้งที่มาจากโรคเองและจากการฆ่าตัวตาย เพิ่มมากขึ้น

ในขณะเดียวกัน การมีสุขภาพจิตที่ดีก็ส่งผลดีต่อร่างกายเช่นกันครับ จากตัวอย่างการวิจัยพบว่า เมื่อแม่คนหนึ่งได้รับการรักษาอาการซึมเศร้าและมีอาการที่ดีขึ้น สามารถช่วยป้องกันการให้กำเนิดทารกที่มีร่างกายแคระเกร็นได้ถึง 20% และการรักษาโรคซึมเศร้าก็สามารถช่วยลดอัตราการฆ่าตัวตายลงได้ถึง 15% อีกด้วย

นี่จึงเป็นข้อพิสูจน์ว่าการรักษาโรคทางจิตใจ ไม่ได้แค่ช่วยให้สุขภาพจิตดีขึ้น แต่ยังช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น และเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาโรคต่างๆ ให้ดีขึ้นด้วย

ถ้าอยากมีสุขภาพดีทั้งกายและใจ อย่าลืมออกกำลังกาย ทานอาหารที่มีประโยชน์ พักผ่อนให้เพียงพอ และที่สำคัญคืออย่าลืมสำรวจจิตใจตัวเองอยู่เสมอด้วยนะครับ

และหากเริ่มสังเกตถึงปัญหาบางอย่างทางจิตใจ การเอื้อมมือออกไปหาผู้ช่วยเหลือ ไม่ว่าจะเป็นการพูดคุยปรึกษากับคนใกล้ชิด หรือการขอความข่วนเหลือจากมืออาชีพ อย่างเช่นจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาการปรึกษาทั้งหลาย ก็เป็นสิ่งที่ควรกระทำอย่างเร่งด่วน

และในยุคที่เทคโนโลยีการสื่อสารก้าวหน้ามาเช่นนี้ ทางเลือกของการใช้ Telemedicine เช่น See Doctor Now ก็เป็นทางเลือกสามารถทำได้อย่างทันที จากที่บ้านของคุณ

อย่าปล่อยปละละเลยให้ ‘ปัญหาทางใจ’ กลายมาเป็น ‘โรคทางใจ’ ที่ร้ายแรงเลยนะครับ


Source: https://www.webmd.com/mental-health/news/20070904/health-depends-on-mental-health

, ,