October 4, 2017 Editorial

การผ่าตัดเต้านมเพื่อป้องกันมะเร็ง ในความเห็นของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านพันธุกรรม

ย้อนไปเมื่อปี 2556 เป็นข่าวที่ฮือฮาพอสมควร ในกรณีที่นักแสดงสาวชื่อดังแห่งฮอลลีวูด แองเจลิน่า โจลี่ เปิดเผยว่า เธอตัดสินใจผ่าตัดเต้านมทั้งสองข้าง

เรื่องหน้าอกถือเป็นเรื่องละเอียดอ่อนสำหรับผู้หญิง ยิ่งโดยเฉพาะนักแสดงสาว ที่ต้องอาศัยทั้งความสามารถในการแสดง และรูปลักษณ์ของตัวเอง แต่สิ่งที่ทำให้ แองเจลิน่า โจลี่ ตัดสินใจผ่าตัดในครั้งนี้ ก็เพราะเธอพบจากการตรวจพันธุกรรมว่า ตัวเองมียีนที่มีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านมถึง 87% และมะเร็งรังไข่ถึง 50% เธอจึงตัดสินใจผ่าตัดเพื่อลดความเสี่ยงของโรคนี้ ทำให้หลังการผ่าตัด โอกาสที่เธอจะเป็นมะเร็งเต้านม ลดลงมาเหลืออยู่เพียง 5% เท่านั้น

การตัดสินใจดังกล่าวของแองเจลิน่า โจลี่ ส่งผลอย่างไรต่อวงการแพทย์ และถือว่าสมเหตุสมผลหรือไม่ มาฟังความคิดเห็นจาก นพ.ประสิทธิ์ เผ่าทองคำ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านพันธุกรรมกันครับ

“สำหรับกรณีนี้ ในวงการพันธุกรรม หมอพันธุกรรมทั่วไปต้องแสดงความขอบคุณในความกล้าหาญของคุณแองเจลิน่า ที่ออกมาเปิดเผยเรื่องในครอบครัว เพราะทำให้เกิดการกระตุ้นความสนใจอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะในประเทศสหรัฐอเมริกา

หากวิเคราะห์ตามประวัติครอบครัว คุณแม่ของแองเจลิน่ามีประวัติเป็นโรคมะเร็งเต้านมและโรคมะเร็งรังไข่ และคุณแม่ได้ไปตรวจพบว่า มีการกลายพันธุ์ในยีนที่ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเต้านม ชื่อว่า BRCA1 ซึ่งเป็นยีนที่เรารู้อยู่แล้วว่า สามารถทำให้เกิดมะเร็งรังไข่ด้วย

แม้ขณะนั้นแองเจลิน่ายังไม่ได้เป็นมะเร็ง แต่รับรู้ประวัติของคุณแม่ และได้รับการตรวจพบว่าตัวเองมีการกลายพันธุ์ในยีน BRCA1 เช่นเดียวกับคุณแม่ ความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งเต้านมในช่วงชีวิตของเธอ หรือคนที่มีการกลายพันธุ์ในยีนนี้ คือ 80-90% ที่จะเกิดมะเร็งเต้านม เมื่อเทียบกับประชากรทั่วไปที่มีโอกาส เป็นมะเร็งเต้านมมีเพียง 12% ส่วนการเกิดเป็นมะเร็งรังไข่คือ 50% ในขณะที่ประชากรทั่วไปมีโอกาสเป็นมะเร็งรังไข่ 1% เท่านั้น

เมื่อมีความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งรังไข่และมะเร็งเต้านมสูงมาก ทางการแพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยพิจารณาตัดเต้านมทั้ง 2 ข้างเพื่อป้องกันการเกิดมะเร็งเต้านม รวมทั้งพิจารณาตัดรังไข่และปีกมดลูกทั้ง 2 ข้าง เมื่อมีครอบครัวครบสมบูรณ์แล้ว

สำหรับแองเจลิน่านั้นได้ทำการตัดเต้านม และเมื่อมีครอบครัวสมบูรณ์แล้ว นั่นคือมีลูกแล้ว ก็เข้ารับการตัดรังไข่ทั้งสองข้างเพื่อลดโอกาสการเกิดมะเร็ง”

การผ่าตัดเต้นนมครั้งนั้นของแองเจลิน่า จึงถือเป็นการกระตุ้นให้ประชากรโดยทั่วไปสนใจปัจจัยทางพันธุกรรม และทำให้สนใจจะตรวจร่างกายเพื่อหาความเสี่ยง และพิจารณาการรักษาที่สมควรต่อไปตั้งแต่เนิ่นๆ

หากท่านใดมีความสนใจที่จะปรึกษาเรื่องพันธุกรรม ทาง See Doctor Now มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านนี้รอให้คำปรึกษาอยู่นะครับ