March 26, 2018 SDN_Editorial

ไบโพลาร์ (Bipolar Disorder) โรคอารมณ์สองขั้ว คำตอบที่มากกว่าแค่อารมณ์เปลี่ยนไปมา

คุณรู้สึกอารมณ์ดีมาก คึกคัก อยู่ๆ ก็มั่นใจในตนเองมากขึ้น กล้าทำในสิ่งไม่คิดว่าจะทำ พูดเร็วพูดไม่หยุด มีเรื่องที่คิดขึ้นมาได้มากมายตลอด แถมบางทียังช็อปจนหมดตัว บางทีรูดบัตรเครดิตจนเกลี้ยงเต็มวงเงิน ฟิตมาก ใครท้าอะไรก็ทำ แถมยังไม่รู้สึกง่วงไม่ค่อยจะอยากนอน หรือบางทีก็หงุดหงิดขึ้นกว่าแต่ก่อน

แต่ มันก็น่าแปลกนะ!

ที่ต่อมาคุณก็รู้สึกหดหู่ ไม่อยากรับรู้เรื่องอะไรเลย ไม่รู้สึกสนุกกับสิ่งที่เคยสนใจ กลับอ่อนเพลียไม่มีเรี่ยวแรง เนือยๆ กินได้น้อยลง อยากร้องไห้บ่อยๆ รู้สึกไร้คุณค่า รู้สึกตนเองห่วย สมาธิในการเรียนหรือการทำงานก็ลดลงกว่าเดิม บางครั้งก็มีความคิดอยากฆ่าตัวตาย

หากคุณเริ่มรู้สึกตนเองหรือคนรอบข้างของคุณ มีอารมณ์และพฤติกรรมข้างต้นเกิดขึ้น และเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นช่วงๆ ไปมา เรามาดูกันว่าพฤติกรรมเหล่านี้ของคุณเข้าข่ายโรคไบโพลาร์หรือไม่

โรค ไบโพลาร์ (Bipolar Disorder) เป็นโรคที่มีความผิดปกติทางอารมณ์ คำว่า ไบโพลาร์ (Bipolar) มาจากคำว่า Bi ที่แปลว่า สอง รวมกับคำว่า Polar ที่แปลว่า ขั้ว เราจึงมีคำเรียกโรคนี้ในภาษาไทยว่า โรคอารมณ์สองขั้ว ทั้ง 2 ขั้วนั้นคือ ช่วงที่อารมณ์ดีคึกคัก เรียกว่า Manic Episode และ ช่วงที่หดหู่เศร้าซึม คือ Depressive Episode

ทำความรู้จักสองขั้วอารมณ์ของโรค ไบโพลาร์

ในช่วงเวลาที่ผู้ป่วยอยู่ระยะ Manic Episode หรือ Mania อารมณ์และพฤติกรรมของผู้ป่วยจะมีความพุ่งขึ้นสูงสุด ทำสิ่งต่าง ได้มากมาย เรี่ยวแรงเยอะ ทำได้มากกว่าที่เคยเป็นหรือเคยทำ อารมณ์ดีผิดปกติ และเมื่อระยะของ Depressive Episode เคาะประตูเข้ามาทักทาย บุคคลนั้นก็จะมีอารมณ์และพฤติกรรมที่เศร้าซึมดำดิ่งลึกลงไป ทุกอย่างดูเศร้าหมอง รู้สึกไม่สดใส

ทั้งสองขั้วนี้จะผลัดเข้ามาเป็นระยะไม่แน่นอน บางครั้งก็มาหลายวัน มาเป็นสัปดาห์ ไม่สามารถทำนายได้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไร และเป็นด้านใด ซึ่งสามารถแบ่งย่อยระดับอารมณ์ได้เป็น อารมณ์ดีผิดปกติ (Mania), อารมณ์ซึมเศร้า (Depressive), อารมณ์เศร้าไม่มาก (Subsyndromal depression) และ อารมณ์ดีผิดปกติแต่ไม่มาก (Hypomania)

ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้ ทางเกณฑ์การวินิจฉัยโรคทางจิตเวช Diagnosis and Statistical Manual of Mental Disorder :DSM ก็ได้จัดรูปแบบของอาการออกเป็น 3 ลักษณะ ได้แก่

  • Bipolar Type 1 มีอาการอารมณ์ดีมากผิดปกติ (Mania) อย่างน้อย 7 วัน และมีอารมณ์เศร้า (Depressive) อย่างน้อย 2 สัปดาห์ หรือมีแค่อาการอารมณ์ดีมากผิดปกติ (Mania) อย่างเดียว
  • Bipolar Type 2 มีอาการของซึมเศร้า (Depressive) และอารมณ์ดีผิดปกติแต่ไม่มาก (Hypomania) แต่ไม่มีอาการถึงขั้นอารมณ์ดีผิดปกติ (Mania) ร่วมด้วย
  • Cyclothymic Disorder หรือ Cyclothymia เป็นรูปแบบที่อาการของโรคไม่ครบเกณฑ์ของทั้ง Mania Episode และ Depressive Episode แต่ Cyclothymia จำนวนของอาการของอารมณ์ดีผิดปกติแต่ไม่มาก (Hypomania) กับอารมณ์เศร้า (depressive) เกิดขึ้นหลายครั้งในระยะเวลาอย่างน้อย 2 ปี

 

 

ตัวการที่ซ่อนอยู่ภายใต้อารมณ์ที่แปรปรวนไปมา

คงไม่แปลก หากคุณได้ของขวัญที่ชอบ หรือพบเรื่องราวดีๆ ในชีวิตทำให้คุณรู้สึกดีใจ และเมื่อพบสิ่งที่น่าผิดหวังในชีวิต จะทำให้คุณรู้สึกเศร้า เก็บตัว ไม่อยากพบใคร ความรู้สึกเหล่านี้เกิดขึ้นเปลี่ยนผันไปตามเหตุการณ์ต่างๆ ภายนอกที่ได้ประสบพบเจอในแต่ละวัน

หากแต่การศึกษาพบว่า ความเปลี่ยนแปลงของอารมณ์และพฤติกรรมในผู้ป่วยไบโพลาร์มีที่มาที่ไปมากกว่านั้น หนึ่งในตัวการที่น่าสงสัยคือ เจ้าสารสื่อประสาท (Neurotransmitters)” ที่มีหน้าที่ส่งข้อมูลระหว่างเซลล์ประสาทในสมอง ซึ่งเจ้าตัวสารสื่อประสาทนี้เองที่คอยควบคุมระดับของอารมณ์ (mood), ความเครียด (Stress), ความสุข (Pleasure), สมาธิในการทำสิ่งต่างๆ (Attention and Concentration) และการใช้ความสามารถของสมองเราในด้านอื่น ซึ่งพบว่ามีสารสื่อประสาทบางตัวที่ทำงานแปรปรวน บางตัวก็มีจำนวนมากหรือน้อยเกินไป และด้วยความไม่สมดุลนี้เอง จึงส่งผลต่อผู้ป่วยโรคไบโพลาร์อย่างมากเชียวล่ะ วันนี้เราจะมาทำความรู้จักเจ้าตัวการที่น่าสงสัยกัน

เซโรโทนิน (Serotonin)  เป็นสารเคมีที่ทำให้บุคคลรู้สึกดี ผ่อนคลายและสงบเมื่ออยู่ในระดับที่พอดี หน้าที่สำคัญของเซโรโทนินคือ ช่วยควบคุมอารมณ์ ฮอร์โมน ควบคุมวงจรการนอนหลับ ควบคุมความดันโลหิต ความอยากอาหาร การรับรู้ความเจ็บปวด จากการศึกษาพบว่าในผู้ป่วยไบโพลาร์จะมีอาการซึมเศร้า เนื่องจากมีระดับของเซโรโทนินที่ลดลงกว่าปกติ

กลูตาเมต (Glutamate) เป็นสารสื่อประสาทชนิดกระตุ้น จากวารสาร Biological Psychiatry ในปี 2007 ได้เผยแพร่ว่าเราจะพบกลูตาเมตที่มากเกินไปในบางพื้นที่สมองผู้ป่วยไบโพลาร์ ซึ่งการรักษาในปัจจุบันต้องทานยาเพื่อลดการกระตุ้นเพื่อรักษาระดับของกลูตาเมตให้คงที่

กาบา (GABA) หากกลูตาเมตเป็นสารสื่อประสาทที่เป็นชนิดกระตุ้น กาบาจะเป็นตัวที่มีฤทธิ์ที่ตรงข้ามกัน นั่นคือเป็นชนิดยับยั้ง กาบามีหน้าปรับระดับของสารสื่อประสาทตัวอื่น อาทิ โดปามีน เซโรโทนิน และนอร์อิพิเนฟริน จากการศึกษาพบว่า มีการทำงานของกาบาลดลงในสมองของผู้ป่วย

โดปามีน  (Dopamine) เป็นสารสื่อประสาทที่เกี่ยวข้องกับศูนย์การให้รางวัลของสมอง ทำให้รู้สึกมีความสุข และยังมีหน้าที่ในการควบคุมการหลับ แรงจูงใจ การมีสมาธิและการเรียนรู้ จากนิตยสาร “Acta Psychiatrica Scandinavica Supplementum” ได้สรุปไว้ว่า โดปามีนเป็นสารสื่อประสาทที่มีบทบาทในการช่วงการเปลี่ยนจากขั้ว Mania ไปยังขั้ว Depressive ในผู้ป่วยโรคไบโพลาร์ มีการศึกษามากมายยืนยันว่า พบโดปามีนสูงขึ้นในระยะ Mania และมีโดปามีนลดลงในระยะ Depressive Episode

นอร์อิพิเนฟริน (Norepinephrine) เป็นสารสื่อประสาทที่สังเคราะห์มาจากโดปามีน มีบทบาททำให้ร่างกายตื่นตัวเมื่อเผชิญกับภาวะกลัวหรือเครียด ซึ่งผู้ป่วยไบโพลาร์มักมีนอร์อิพิเนฟรินในสมองลดลงกว่าปกติ

เมลาโทรนิน (Melatonin) เป็นฮอร์โมนที่หลั่งมาจากต่อมไพเนียล ไม่ใช่สารสื่อประสาทแต่การทำงานเหมือนกับสารสื่อประสาท มีหน้าที่ควบคุมวงจรการนอนหลับ และควบคุมระดับของโดปามีนและกาบา จากนิตยสาร Frontiers of Neuropharmacology ปี 2011 พบว่ามีการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนเมลาโทรนินในผู้ป่วยโรคไบโพลาร์

นอกจากสารสื่อประสาทในสมองแล้ว ยังพบปัจจัยอื่นๆที่มีความเกี่ยวข้องคือ พันธุกรรม (Genetic)” หากมีพ่อแม่หรือพี่น้องที่เป็นโรคไบโพลาร์จะพบความเสี่ยง 4 ถึง 6 มากกว่าผู้ที่ไม่มีบุคคลในครอบครัวเป็นโรคไบโพลาร์ และยังมีการศึกษาที่พบอีกว่า ในฝาแฝดแท้หากมีแฝดคนหนึ่งเป็น ก็จะมีโอกาสถึง 70% ที่อีกคนจะเป็นโรคไบโพลาร์ด้วย

 

Warning! จับสัญญาณอันตรายให้ทัน !

คงไม่ดีแน่ ! หากปล่อยไว้ให้ตนเองเผชิญความเปลี่ยนแปลงในวันที่อารมณ์พุ่งขึ้นสูงจนยากควบคุม หรือดิ่งร่วงลงมาอย่างไร้แรงต้านทาน แต่จะให้ควบคุมก็คงไม่ใช่เรื่องง่ายเอาเสียเลย ในเมื่อเจ้าตัวการร้ายแอบซ่อนอยู่ข้างในสมองของเรา แล้วเราจะทำอย่างไรดีล่ะ?

แม้ว่ากระบวนการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นภายใน การเข้าไปควบคุมอารมณ์ในระหว่างภาวะ Mania หรือ Depressive Episode คงเป็นเรื่องยาก แต่แท้จริงแล้วผู้ป่วยสามารถช่วยกันจับสัญญาณอันตรายก่อนที่จะอารมณ์จะเปลี่ยนขั้ว ได้โดยการหมั่นสังเกตจาก พฤติกรรม และอารมณ์ของตนเองที่เปลี่ยนแปลงไปจากปกติ ตัวอย่างเช่น

สัญญาณเตือนของ Depressive Episode

  • รู้สึกอยากอยู่คนเดียว ไม่อยากเจอหน้าใคร
  • ทำไมคนอื่นช่างน่ารำคาญ!
  • ชักเริ่มปวดหัวขึ้นมาอีกแล้ว
  • ไม่อยากที่จะสนใจใคร ไม่อยากทำอะไรเลย
  • ต้องการนอนมากขึ้น หรือนอนกลางวันมากขึ้น
  • ทำอะไรก็ไม่รู้สึกสนุกเลย

สัญญาณเตือนของ Mania Episode

  • คิดว่าตนเองสามารถอ่านหนังสือ 5 เล่มจบภายในรวดเดียว
  • รู้สึกไม่มีสมาธิหรือจดจ่อทำอะไรนานๆได้เลย
  • รู้สึกตัวเองพูดเร็วกว่าปกติ
  • หงุดหงิด ฉุนเฉียวบ่อยขึ้น (สังเกตด้วยตนเอง หรือจากการสังเกตของคนรอบข้าง)
  • รู้สึกตัวเองมีแรงมากขึ้น มีพลังงานมาก อยากทำอะไรเยอะเยอะไปหมด

หากเราสามารถมองเห็นและสังเกตถึงอาการเล็กๆน้อยที่เป็นสัญญาณเตือนเหล่านี้ จะทำให้เราสามารถเตรียมการการรับมือมันได้โดยการรีบปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้เร็วที่สุด

ควรมีวิธีการรับมือกับ ไบโพลาร์ อย่างไร ?

นอกจากจะจับสัญญาณอันตรายให้ทันแล้ว ก็ต้องมีแผนการรับมือด้วย วิธีการรับมือความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นสามารถทำได้โดยการ สร้างตารางการใช้ชีวิต และทำให้เป็นกิจวัตรประจำวัน การตั้งเวลาเวลาตื่นนอน เวลานอนหลับ เวลารับประทานอาหาร เวลาออกกำลังกาย เวลาทำงาน และเวลาพักผ่อน ไม่ว่าจะอยู่ในภาวะ Mania หรือ Depressive Episode ก็ให้พยายามทำตามตารางที่กำหนดไว้ เนื่องจากจะเป็นสิ่งที่ช่วยปรับอารมณ์ให้กลับมาคงที่ได้มากขึ้น สิ่งสำคัญคือ ต้องทำตามแผนไม่ทำตามอารมณ์

อ่อนแอแต่ไม่แพ้ ถ้าไม่ไหว ให้บอก

การเผชิญหน้ากับความเปลี่ยนแปลงไม่ใช่เรื่องง่ายเลย หากคุณรู้สึกไม่ไหว หรือต้องการคำแนะนำ อย่ารีรอที่จะไปพบแพทย์ พบนักจิตวิทยาเพื่อขอคำแนะนำในการดูแลตนเอง และควรอย่างยิ่งที่จะต้องรับประทานยาเพื่อปรับระดับสารสื่อประสาทให้คงที่ หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับอาการ หรือรู้สึกอารมณ์เปลี่ยนแปลงกะทันหัน See Doctor Now ยินดีที่จะให้คำปรึกษาครับ

อ้างอิง

What causes Bipolar Disorder?
https://www.healthline.com/health/bipolar-disorder/bipolar-causes

What Chemicals Are Involved With Bipolar Disorder?
https://www.livestrong.com/article/234421-what-chemicals-are-involved-with-bipolar-disorder/

Living with Bipolar Disorder
https://www.helpguide.org/articles/bipolar-disorder/living-with-bipolar-disorder.htm

Bipolar Disorder
https://www.nimh.nih.gov/health/topics/bipolar-disorder/index.shtml

อารมณ์สองขั้วหรือไบโพลาร์
http://haamor.com/th/อารมณ์สองขั้ว