August 28, 2017 Editorial

8 เรื่องควรรู้เกี่ยวกับ ต่อมลูกหมากโต โรคที่ผู้ชายส่วนใหญ่ต้องเจอ

ต่อมลูกหมากโต เป็นอาการที่ผู้ชายส่วนใหญ่มักต้องเจอเมื่อมีอายุมากขึ้น และทำให้กังวลถึงปัญหาสุขภาพต่างๆ ที่จะตามมา แต่ก็อย่าเพิ่งกังวลใจจนเกินไป เพราะโรคต่อมลูกหมากโตมีทั้งอาการหนักและเบาแตกต่างกันไปในแต่ละคน ซึ่งเราสามารถรับมือกับมันได้

 

ต่อมลูกหมากโต (BPH – Benign Prostatic Hyperplasia) คือ การที่ต่อมลูกหมากมีขนาดใหญ่ผิดปกติ และไปบีบท่อปัสสาวะให้แคบลง ทำให้มีอาการปัสสาวะติดขัด

ต่อมลูกหมากเป็นอวัยวะส่วนหนึ่งของระบบสืบพันธุ์เพศชาย  มีรูปร่างและขนาดคล้ายผลวอลนัท อยู่ใต้กระเพาะปัสสาวะและล้อมรอบท่อปัสสาวะส่วนต้น มีหน้าที่ผลิตสารที่เป็นของเหลวประมาณ 30% ของน้ำอสุจิ เมื่อมีอาการต่อมลูกหมากโตจะทำให้ส่งผลโดยตรงต่อท่อปัสสาวะและการปัสสาวะ ทำให้เกิดอาการผิดปกติต่างๆ ขึ้น ซึ่งแต่ละคนมีอาการที่แตกต่างกัน และความรุนแรงของอาการต่างกัน เช่น ในบางคนความแรงของปัสสาวะลดลง ในขณะที่บางคนอาจอาการหนักถึงขั้นปัสสาวะไม่ออก

มาทำความรู้จักกับโรคต่อมลูกหมากโต และขั้นตอนในการรับมือกับโรคนี้กันครับ

 

 

ผู้ที่เข้าข่ายเสี่ยงเป็น ต่อมลูกหมากโต

1.ผู้ที่เข้าข่ายเสี่ยงเป็น ต่อมลูกหมากโต

โดยทั่วไปต่อมลูกหมากจะหยุดการเจริญเติบโตหลังจากอายุ 20 ปี และเมื่อถึงอายุ 45 ปีจะเพิ่มขนาดขึ้นไปเรื่อยๆ เป็นสาเหตุให้เกิดโรคต่อมลูกหมากโต

ความจริงแล้วโรคต่อมลูกหมากโตถือเป็นโรคชรา หรือ โรคสามัญชนิดหนึ่งที่เกิดผู้สูงอายุ ซึ่งเฉลี่ยในผู้ชายอายุ 45 ปีขึ้นไปพบ 20 % ผู้ชายอายุประมาณ 60 ปี พบ 50 % และหากมีอายุเพิ่มขึ้น 80-90 ปี จะพบว่าเกิดโรคนี้ขึ้นทุกคน

 

 

2.ต่อมลูกหมากโตเกิดขึ้นได้อย่างไร?

เป็นที่สงสัยในผู้ป่วยและคนทั่วไปว่าทำไมถึงพบโรคต่อมลูกหมากโตในผู้ชายที่อายุมากขึ้น จากการวิจัยที่ผ่านมา ทางการแพทย์ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่เชื่อว่ามีความสัมพันธ์เกี่ยวกับฮอร์โมนตัวหนึ่งชื่อ “ไดไฮโดรเทสโทสเตอโรน” (Dihydrotestosterone – DHT) ซึ่งเป็นตัวกระตุ้นให้ต่อมลูกหมากมีขนาดโตขึ้น

และมีการสันนิษฐานว่า อาจเกิดจากพันธุกรรม โดยเฉพาะคนที่มีอาการค่อนข้างรุนแรงในกลุ่มคนที่มีอายุน้อยกว่า 60 ปี ซึ่งต้องรับการรักษาโดยผ่าตัด นอกจากนี้ผู้ป่วยที่มีประวัติว่าคนในครอบครัวมีปัญหาเกี่ยวกับต่อมลูกหมาก หรือผู้ที่มีความผิดปกติของอัณฑะจะยิ่งมีความเสี่ยงที่จะป่วยเป็นโรคต่อมลูกหมากโตเพิ่มขึ้น

และยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่คาดว่าอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรค เช่นการบริโภคอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ ไม่ออกกำลังกาย โรคอ้วน

 

 

3.เช็คอาการ ใช่โรคต่อมลูกหมากโตหรือไม่

อาการส่วนใหญ่ของโรคต่อมลูกหมากโต จะส่งผลต่อการขับถ่ายปัสสาวะโดยตรง เนื่องจากต่อมลูกหมากโตไปกดท่อปัสสาวะ ซึ่งมีอาการแตกต่างกันไปในแต่ละราย และอาการกับขนาดของต่อมลูกหมากที่โตขึ้นอาจไม่สัมพันธ์กัน บางคนอาจมีต่อมลูกหมากโตมาก แต่มีอาการเพียงเล็กน้อย เพราะยังมีปัจจัยอื่นๆ เกี่ยวข้อง ทำให้ผู้ชายจำนวนไม่น้อยที่ละเลยอาการต่าง ๆ ของต่อมลูกหมากโตและคิดว่าไม่เป็นไร

มาลองเช็คอาการของโรคต่อมลูกหมากโตกันหน่อยครับ ต่อไปนี้คืออาการที่คุณควรใส่ใจและไปปรึกษาแพทย์ หากพบว่าเป็นอย่างต่อเนื่องนะครับ

• ปัสสาวะอ่อน ปัสสาวะสะดุดเป็นหยดๆ ต้องออกแรงเบ่ง

• ปัสสาวะไม่ออกในทันทีหรือค่อยเป็นค่อยไปทำให้ใช้เวลาในการถ่ายปัสสาวะนาน

• มีความรู้สึกเหมือนถ่ายปัสสาวะไม่สุด ทำให้อยากปัสสาวะอยู่เรื่อย ๆ

• ต้องการปัสสาวะทันที ไม่สามารถกลั้นปัสสาวะได้

• รู้สึกปวดขณะถ่ายปัสสาวะ

• ปัสสาวะหลายครั้ง ทั้งกลางวันและกลางคืน

• มีเลือดปนออกมาในปัสสาวะ เนื่องจากเบ่งถ่ายนานๆ ทำให้หลอดเลือดที่ปัสสาวะคั่งแล้วแตกจนมีเลือดออกมา แต่อาการนี้ก็ไม่ใช่อาการหลักของโรคนี้

นอกจากนี้ หากมีอาการไข้ หนาวสั่น ปวดที่สีข้าง บริเวณหลัง หรือบริเวณท้อง ปัสสาวะมีหนองหรือมีเลือดปน ร่วมด้วยกับอาการข้างต้นที่กล่าวมา ควรรีบไปพบแพทย์ทันที

 

 

4.โรคที่อาจตามมาจากการที่ต่อมลูกหมากโต

เนื่องจากอาการของโรคต่อมลูกหมากโตทำให้การถ่ายปัสสาวะออกไม่หมด ในกระเพาะปัสสาวะปกติมีปัสสาวะประมาณ 400-500 มิลลิลิตร ถ้าปัสสาวะไม่หมดมีปัสสาวะค้างอยู่ ทำให้เกิดการตกตะกอน ซึ่งอาจเกิดการติดเชื้อได้ และจะสามารถทำให้เกิดกระเพาะปัสสาวะอักเสบ กรวยไตอักเสบ หรือทางเดินปัสสาวะอักเสบ เนื่องจากปัสสาวะไม่ออกเลย และส่งผลต่อท่อไตและไตบวม จากการอุดกั้นของทางเดินปัสสาวะ นอกจากนี้อาจจะทำให้ผนังกระเพาะปัสสาวะหย่อนยานหรือเป็นถุงโป่งพอง หรือเกิดนิ่วในกระเพาะปัสสาวะได้

ในสำหรับคนที่กังวลว่า โรคต่อมลูกหมากโตจะส่งผลต่อสมรรถภาพทางเพศ ในทางการแพทย์ที่ผ่านมาไม่พบว่ าการเกิดโรคนี้จะส่งผลต่อสมรรถภาพทางเพศ และไม่พบว่าเป็นสาเหตุให้เกิดมะเร็งต่อมลูกหมาก แต่ทั้งสองโรคสามารถเกิดขึ้นได้พร้อมกัน และมีอาการที่ใกล้เคียงกัน

 

 

5.การตรวจโรคต่อมลูกหมากโตกับแพทย์

ก่อนไปพบแพทย์ ผู้ป่วยสามารถตรวจดูอาการด้วยตนเองในเบื้องต้นก่อนได้ โดยการสังเกตความผิดปกติในการปัสสาวะ หากพบว่ามีการปัสสาวะที่บ่อยขึ้น หรือในขณะที่ปัสสาวะรู้สึกเจ็บ หรือปัสสาวะเป็นเลือด รวมทั้งมีอาการปัสสาวะไม่พุ่ง ไหลช้า หรือไหลๆ หยุดๆ  ต้องเบ่งหรือรอนานกว่าจะสามารถปัสสาวะออกมาได้ ควรรีบไปพบแพทย์ในทันทีเพื่อความปลอดภัย

และเมื่อไปพบแพทย์ ขั้นตอนการวินิจฉัยและเครื่องมือที่ใช้ของแพทย์จะขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการ หากอาการหนัก แพทย์อาจจะต้องใช้เครื่องมือในการวิเคราะห์และวินิจฉัย เพื่อกระบวนการในการรักษาขั้นต่อไป

โดยแพทย์จะวินิจฉัยได้จากการซักประวัติ สอบถามอาการ ระยะเวลาที่เริ่มมีอาการ ตรวจร่างกายทั่วไป และอาจให้ผู้ป่วยทำแบบทดสอบเกี่ยวกับอาการขับถ่ายปัสสาวะที่ผิดปกติ จากนั้นแพทย์จะทำการตรวจต่อมลูกหมากทางทวารหนัก ซึ่งแพทย์จะใช้นิ้วสวมถุงมือสอดเข้าไปในทวารหนักและกดลงบนต่อมลูกหมากเพื่อตรวจและประเมินขนาดของต่อมลูกหมากว่าผิดปกติหรือไม่

และหลังจากนั้นเป็นการตรวจปัสสาวะ ซึ่งมีหลายกระบวนการ มีทั้งตรวจความแรงในการไหลของปัสสาวะ มักจะร่วมกับการตรวจปัสสาวะที่เหลือค้างหลังจากปัสสาวะหมดแล้ว ซึ่งมีประโยชน์ในการประเมินความรุนแรง และติดตามการรักษา

ตรวจปัสสาวะเพื่อหาว่ามีเลือด หรือการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ มีเม็ดเลือดผิดปรกติหรือไม่ และยังเป็นการบอกถึงความผิดปรกติของร่างกายในระบบอื่นได้ และยังมีการตรวจเลือดเพื่อประเมินการทำงานของไต

นอนจากนี้ ยังมีการใช้เครื่องมือต่างๆ ในการตรวจเพื่อความแน่ชัด เช่นตรวจอัลตร้าซาวด์ สามารถเห็นต่อมลูกหมาก ไต และกระเพาะปัสสาวะ โดยทำผ่านทางทวารหนัก ตรวจยูโรพลศาสตร์ เพื่อดูว่าทางเดินปัสสาวะถูกอุดมากน้อยแค่ไหน การถ่ายภาพรังสีทางเดินปัสสาวะ และการตรวจส่องกล้อง cystoscope เพื่อดูต่อมลูกหมาก กระเพาะปัสสาวะซึ่งเป็นการตรวจที่ไดข้อมูลค่อนข้างมาก

 

 

6.รับมือและรักษาโรคต่อมลูกหมากโตอย่างไรดี

การรักษาโรคต่อมลูกหมากโต มีหลายระดับซึ่งขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการ หากมีอาการเล็กน้อย แพทย์จะแนะนำให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม คืองดดื่มของเหลว หรือแอลกอฮอล์ในปริมาณที่มากเกินไป

ถ้ามีอาการมากขึ้น แพทย์อาจแนะนำให้กินยา ซึ่งเป็นยาลดอาการหดเกร็งกล้ามเนื้อที่บีบรัดท่อปัสสาวะ ยาลดขนาดต่อมลูกหมาก และยาสมุนไพรที่สกัดขึ้นเพื่อลดอาการบวม ซึ่งแพทย์จะวินิจฉัยและจัดยาตามความเหมาะสม และผู้ป่วยควรตั้งเวลาในการรับประทานยาให้เหมาะสม เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอาการปัสสาวะบ่อยในตอนกลางคืน

การรักษาด้วยความร้อน คือการใช้ความร้อนกับเนื้อเยื่อของต่อมลูกหมาก เช่น ไมโครเวฟ คลื่นวิทยุ หรือเลเซอร์ เพื่อทำให้ต่อมลูกหมากฝ่อและเล็กลง ซึ่งเป็นวิธีที่แพทย์เลือกใช้ในรายผู้ป่วยที่ไม่เหมาะกับการผ่าตัด

แต่ถ้าใช้ยาไม่ได้ผล หรือมีอาการแทรกซ้อนอื่น ๆ แพทย์จะทำการรักษาด้วยการผ่าตัด ซึ่งจะใช้ในกรณีที่การรักษามีความรุนแรง การใช้ยาไม่ได้ผล หรือมีปัญหาทางเดินปัสสาวะติดขัด เกิดนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ ปัสสาวะเป็นเลือด หรือมีปัญหาเกี่ยวกับไต แต่จะไม่สามารถทำได้หากผู้ป่วยมีอาการของการติดเชื้อที่ทางเดินปัสสาวะ หรือมีอาการของท่อปัสสาวะตีบ (Urethral Stricture) รวมถึงผู้ป่วยที่มีประวัติการรักษาต่อมลูกหมากด้วยรังสี หรือเคยผ่านการผ่าตัดทางเดินปัสสาวะ และผู้ป่วยโรคเกี่ยวกับระบบประสาท เช่น โรคพาร์กินสัน (Parkinson’s Disease) หรือโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง (Multiple Sclerosis)

การผ่าตัดมีหลายวิธี ส่วนใหญ่ที่นิยมใช้กันคือ การผ่าตัดด้วยการส่องกล้อง ซึ่งแพทย์ผ่าตัดจะส่งท่อที่มีกล้องขนาดเล็กผ่านเข้าสู่ท่อปัสสาวะ ตรงปลายท่อจะมีเครื่องมือผ่าตัดขนาดเล็กใช้สำหรับตัดเนื้อเยื่อต่อมลูกหมากส่วนที่กดทับท่อปัสสาวะไว้

แต่ในกรณีที่ต่อมลูกหมากมีขนาดใหญ่มากผิดปกติ แพทย์อาจจำเป็นต้องใช้วิธีการผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้องเพื่อนำเอาเนื้อเยื่อส่วนเกินออกมา

ส่วนใหญ่แล้วโรคนี้ไม่มีหายขาด นอกจากโรคติดเชื้อบางอย่าง เพราะโรคต่อมลูกหมากเป็นโรคเนื้องอกในต่อมลูกหมาก การรักษาโดยการผ่าตัดก็ไม่ได้ตัดต่อมลูกหมาก เพียงแต่เอาเนื้องอกออก ซึ่งทำให้เกิดขึ้นใหม่ได้ แต่การเปลี่ยนพฤติกรรมอย่างเคร่งครัด มีส่วนทำให้อาการดีขึ้นได้ หรือบางส่วนอาจไม่ดีขึ้นแต่ก็ไม่แย่ลงไปกว่าเดิม

 

 

7.แนวทางปฏิบัติเมื่อเป็นโรคต่อมลูกหมากโต

• ไม่ควรกลั้นปัสสาวะ ปวดแล้วก็ควรจะปัสสาวะ เพราะกลั้นแล้วจะทำให้เป็นมากขึ้น และการกลั้นปัสสาวะนานเกินไปจะทำให้กล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะเกิดความเสีย        หาย

• ก่อนนอนไม่ควรดื่มน้ำมาก และควรปัสสาวะก่อนเข้านอน เพราะกลางคืนจะได้ไม่ต้องลุกขึ้นบ่อย

• ฝึกการเข้าห้องน้ำ การเข้าห้องน้ำทุก ๆ 4-6 ชั่วโมง เป็นวิธีการทำให้จำกัดการเข้าห้องน้ำและทำให้ฝึกปัสสาวะเป็นเวลา ซึ่งจะช่วยได้มากในกลุ่มผู้ป่วยที่ปัสสาวะบ่อย      และไม่สามารถกลั้นได้

• งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะแอลกอฮอล์จะทำให้ปัสสาวะออกมาเยอะ และงดดื่มเครื่องดื่มที่มี คาเฟอีน หรือลดปริมาณลงเพื่อไม่ให้เกิดการระคายเคืองที่                กระเพาะ ปัสสาวะและทำให้อาการแย่ลง

• ควรออกกำลังกายบ้าง เพราะมีการวิจัยพบว่าการออกกำลังกายด้วยการเดินอย่างน้อยวันละ 30-60 นาทีต่อวันจะช่วยให้อาการดีขึ้น

• จำกัดการรับประทานยาลดน้ำมูก หรือยาแก้แพ้ การใช้ยาทั้ง 2 ชนิดจะทำให้ปัสสาวะได้ลำบาก เนื่องจากยาจะเข้าไปทำให้กล้ามเนื้อบริเวณท่อปัสสาวะที่ควบคุมการ      ไหลของปัสสาวะหดตัว ซึ่งในเรื่องนี้ควรทำโดยการปรึกษาแพทย์ก่อน

• รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ การรับประทานอาหารที่ดีมีประโยชน์จะช่วยในเรื่องของการควบคุมน้ำหนัก ทำให้ความเสี่ยงโรคอ้วนลดลงซึ่งเกี่ยวของกับโรคต่อมลูก   หมากโต

• ไม่ควรขี่หรือนั่งจักรยาน หรือทำกิจกรรมอะไรที่สะเทือนต่อมลูกหมาก เพราะจะทำให้ปัสสาวะไม่ออก และอาจมีอาการอื่นๆ

• หากเป็นไปได้ควรมีกิจกรรมร่วมเพศ การมีน้ำเชื้อออกมาบ้างจะทำให้ต่อมลูกหมากไม่บวม

 

 

8.โรคต่อมลูกหมากโตยังไม่สามารถป้องกันได้

ในปัจจุบันยังไม่มีวิธีป้องกันภาวะการเกิดต่อมลูกหมากโต ที่ทำได้คือการป้องกันไม่ให้อาการของโรคแย่ลงไปกว่าเดิม ทางที่ดีผู้ชายที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป ควรได้รับการตรวจต่อมลูกหมากเป็นประจำทุกปี และควรหมั่นสังเกตความผิดปรกติของระบบทางเดินปัสสาวะ และควรรีบไปพบแพทย์หากมีอาการ เพื่อการรักษาที่ทันท่วงทีและรับมือได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ อาการถ่ายปัสสาวะลำบากนั้น สามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ อาจเกิดจากโรคต่อมลูกหมากโต โรคมะเร็งต่อมลูกหมาก หรือมะเร็งกระเพาะปัสสาวะก็ได้ เพราะทั้งสามโรคมีอาการที่ใกล้เคียงกันมาก ดังนั้น หากมีอาการปัสสาวะลำบาก หรือมีอาการอื่นๆ เกี่ยวกับการขับถ่ายปัสสาวะ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจดูอาการเพื่อความแน่ใจ และเตรียมพร้อมสำหรับการรักษา