September 27, 2017 Editorial

รู้ทันโรคหอบหืด ในกรณีฉุกเฉิน

ผู้ป่วยที่มีประวัติโรคหอบหืด หรือมีอาการหอบ ควรเตรียมตัวสำหรับสถานการณ์ป่วยฉุกเฉินอยู่เสมอ แม้ว่าอาจจะห่างหายจากอาการไปแล้วเป็นปีก็ตาม เพราะอาการสามารถกลับมาเป็นเมื่อไหร่ก็ได้ การรู้ทันการเกิดอาการหอบหืดเอาไว้ จะส่งผลดีกับการเตรียมการรักษาและปฐมพยาบาลตัวเองครับ

อาการของโรคหอบหืด

อาการของโรคหอบหืด

ไอติดๆ กัน รู้สึกแน่นหน้าอก หอบ หายใจดังเป็นเสียงลม ความรุนแรงของอาการแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรคในแต่ละคน ตัวอย่างเช่น มีอาการหอบเมื่อเดิน แต่เมื่อนั่งลงอาการก็หาย ในขณะที่ถ้ามีอาการรุนแรงอาจไม่สามารถควบคุมได้ และอาจเป็นอันตราย ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีการรักษาหรือปฐมพยาบาลในกรณีที่เกิดขึ้นอย่างกะทันหัน

วิธีปฏิบัติต่ออาการหอบหืดแบบฉุกเฉิน

แผนการฉุกเฉินสำหรับแพทย์และผู้ป่วยโรคหอบหืด เพื่อให้รู้ถึงความร้ายแรงของอาการและวิธีปฏิบัติตัว ซึ่งจะแบ่งออกเป็น 3 ขั้นความรุนแรง

 โซนสีเขียว: ปราศจากอาการ และสามารถทำกิจกรรมตามปกติได้ ถ้าใช้ยาควบคุมประจำวันอยู่ ควรใช้ไปอย่างต่อเนื่อง

โซนสีเหลือง: มีอาการหอบหืด หรือมีอาการแย่ลงกว่าปกติ ควรใช้ยาเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอาการหอบหืดรุนแรง

 โซนสีแดง: มีอาการหอบหืดฉุกเฉิน และมีอาการต่างๆ เหล่านี้ร่วมด้วย ให้รีบขอความช่วยเหลือฉุกเฉินทันที

 • รู้สึกหายใจไม่ออกแม้ในขณะที่ไม่ได้เคลื่อนไหว

• มีปัญหาในการเดิน การพูด หรือทำกิจกรรมต่างๆ

• ยังรู้สึกไม่ดีขึ้นหลังจากใช้เครื่องช่วยหายใจ

• ริมฝีปากและเล็บเริ่มเปลี่ยนเป็นสีเข้ม อาจจะดูม่วงหรือน้ำเงิน

• อ่อนเพลีย หรือสับสน

• ผิวรอบๆ ซี่โครงดูยุบลงไป (โดยเฉพาะในเด็ก)

• ไม่ได้สติ

นอกจากนั้นควรปฏิบัติตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด รวมถึงรีบใช้ยาพ่นเมื่อยามจำเป็น และใช้เครื่อง peak flow meter วัดอัตราการไหลของอากาศหายใจอยู่เสมอ

 

นอกจากนี้แต่ละบุคคลอาจมีอาการและความรุนแรงที่ต่างกัน เพราะฉะนั้นทางที่ดีผู้ป่วยและแพทย์ประจำตัวควรมีข้อตกลงและแผนการรับมือที่กำหนดร่วมกันด้วยครับ

 ผู้ป่วยยังควรเตรียมข้อมูลให้พร้อมอยู่กับตัวเสมอ เพื่อการรักษาที่ทันท่วงที หรือเมื่อเกิดอาการร้ายแรงและไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ข้อมูลต่างๆ เหล่านี้จะเป็นประโยชน์ต่อการรักษาอย่างต่อเนื่อง

• ชื่อผู้ป่วย

• ชื่อแพทย์ประจำตัวที่รักษาอยู่

• โรงพยาบาลที่ทำการรักษาอยู่

• ค่าการอ่านจากเครื่อง peak flow meter

• สิ่งที่กระตุ้นอาการหอบหืด

• อาการต่างๆ ที่เป็น

• รายชื่อยาที่รับประทาน

 ที่สำคัญผู้ป่วยควรบอกที่เก็บข้อมูลเหล่านี้ให้ครอบครัว เพื่อน หรือคนรอบข้างรู้ด้วย เพื่อที่จะหาเจอและนำมาให้แพทย์เมื่อผู้ป่วยอยู่ในกรณีฉุกเฉินและไม่สามรถช่วยเหลือตัวเองได้

 

Source: WebMD Medical Reference Reviewed by Jennifer Robinson, MD on October 19, 2015