อัลไซเมอร์ เป็นโรคสมองเสื่อมชนิดหนึ่ง ที่ทำให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับความจำ ความคิด และพฤติกรรม อาการมักจะเริ่มจากการลืมเรื่องเล็กน้อย และมากขึ้นไปเรื่อยๆ จนกลายเป็นอาการที่กระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันและการงาน
เราบางคนอาจมีคนรู้จักหรือแม้แต่คนใกล้ตัวเป็นอัลไซเมอร์ และอาจตระหนักถึงความรุนแรงของโรคนี้ แต่สำหรับผู้ที่ไม่ได้ใกล้ชิดกับผู้ป่วยโรคนี้ ก็อาจนึกไม่ออกว่า โลกของผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์นั้นเป็นอย่างไร
เมื่อไม่กี่ปีมานี้ โลกภาพยนตร์ฮอลลีวูดก็ได้พยายามสะท้อนภาพของผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ เพื่อให้คนทั่วไปมีความเข้าใจต่อโรคนี้มากขึ้น ผ่านทางภาพยนตร์เรื่อง Still Alice เรื่องของ “อลิซ” ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ผู้มีทั้งหน้าที่การงานที่ดี และครอบครัวที่อบอุ่น แต่ในขณะที่ทุกอย่างกำลังไปได้สวย อลิซก็พบว่าตัวเองเป็นโรคอัลไซเมอร์ ที่ทำให้ทุกอย่างในชีวิตเธอต้องเปลี่ยนแปลงไป
และนี่คือหลากหลายมุมมองที่สะท้อนผ่านออกมาจากภาพยนตร์ ที่ช่วยให้เราได้เรียนรู้เกี่ยวกับโรคนี้มากขึ้นครับ
เมื่อพบความผิดปกติ ยิ่งปรึกษาแพทย์เร็วยิ่งดี
อลิซเริ่มพบความผิดปกติของตัวเอง จากการลืมสิ่งที่เธอกำลังจะพูดในระหว่างการบรรยาย และหลังจากนั้น อลิซหลงทางขณะวิ่งออกกำลังกายในมหาวิทยาลัยที่เธอทำงานอยู่ นั่นทำให้อลิซตัดสินใจไปพบแพทย์ เพื่อเริ่มการตรวจอาการต่างๆ
แพทย์ทำการตรวจโดยการซักประวัติ และให้ทำการทดสอบเรื่องความจำ หรือในกรณีที่แพทย์คิดว่าเกิดความผิดปกติในสมอง ก็จะทำการตรวจ MRI เพื่อหาสาเหตุ
การวินิจฉัยของแพทย์คืออลิซเป็นโรคอัลไซเมอร์ชนิดเกิดเร็ว ซึ่งเกิดจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรม หมายความว่าลูกๆ ของอลิซมีโอกาสเป็นโรคนี้ได้เช่นกัน
การตรวจหาสาเหตุทันทีที่พบความผิดปกติเช่นที่อลิซทำนี้ เป็นสิ่งที่จะช่วยให้ผู้ป่วยและครอบครัวสามารถวางแผนการรักษาและการใช้ชีวิตได้เร็วขึ้น และทำให้ลูกๆ รู้ถึงความเสี่ยงของโรคที่อาจเกิดขึ้น และทำให้วางแผนการใช้ชีวิตและมีลูกต่อไปในอนาคต รวมถึงการเตรียมตัวเตรียมใจที่อาจจะต้องเผชิญกับโรคร้ายนี้
อัลไซเมอร์ กับปัญหาของเซลล์ในสมอง
การเปลี่ยนแปลงในสมอง มักจะเริ่มต้นมาในระยะหนึ่ง ก่อนที่จะมีสัญญาณของการสูญเสียความทรงจำ
ในสมองของคนเรามีกว่าพันล้านเซลล์ประสาท ซึ่งแต่ละเซลล์ประสาทจะเชื่อมต่อกันเพื่อสร้างเครือข่ายการสื่อสาร กลุ่มของเซลล์ประสาทมีงานเฉพาะของตัวเอง บางกลุ่มมีส่วนในการคิด การเรียนรู้ และการจดจำ บางกลุ่มช่วยให้เราเห็น ได้ยิน และได้กลิ่น
การทำงานของเซลล์ในสมองก็เหมือนกับโรงงานเล็กๆ ที่ทำการประมวลผล จัดเก็บข้อมูล และสื่อสารกับเซลล์อื่นๆ เพื่อให้การทำงานของร่างกายดำเนินไปได้อย่างสอดคล้องกัน
นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าโรคอัลไซเมอร์ขัดขวางการทำงานของเซลล์ในสมองนี้ และไม่ต่างกับการทำงานของโรงงานจริงครับ เมื่อการสำรองข้อมูล และระบบใดระบบหนึ่งเสียหาย ผลย่อมกระทบต่อระบบอื่นๆ ทำให้การทำงานหยุดชะงัก จนเจ๊งหรือตายไปในที่สุด
ความทรงจำที่ค่อยๆ หายไป
อาการหลงๆ ลืมๆ ของผู้ป่วยอัลไซเมอร์ เมื่อเวลาผ่านไปก็จะแสดงออกมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างเช่นที่อลิซเริ่มจำนัดหมายไม่ได้ จำสูตรอาหารที่เคยทำไม่ได้ จำคำศัพท์ไม่ได้ หรือแม้กระทั่งจำไม่ได้ว่า หนึ่งชั่วโมงที่แล้วไปพบกับใครมา
นอกจากนี้ก็ยังมีการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์และพฤติกรรม เกิดความสับสนเกี่ยวกับเหตุการณ์ เวลา และสถานที่ เกิดความสงสัยต่อครอบครัวและเพื่อนฝูง
อาการของอลิซแย่จนถึงขั้นที่มีปัญหาในการสอน จนไม่สามารถสอนหนังสือต่อไปได้ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่กระทบจิตใจเธอเป็นอย่างมาก อลิซลาออกมาอยู่บ้าน และจดทุกๆ อย่างไว้ในโทรศัพท์ แต่บางครั้งบันทึกในโทรศัพท์ก็ไม่ได้ช่วย เมื่อบางครั้งอลิซก็จำชื่อลูกตัวเองไม่ได้ หรือแม้กระทั่งจำไม่ได้ว่าคนๆ นั้นคือลูกของตัวเอง
ในวันที่ผู้ป่วยไม่เหลือความทรงจำ
นี่เป็นสัญญาณของภาวะสมองเสื่อมที่แสดงออกชัดเจน ผู้ที่เป็นเพื่อนหรือสมาชิกในครอบครัวจะสังเกตเห็นอย่างได้ชัด ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากและสะเทือนใจทั้งผู้ป่วยและผู้ดูแล ในการเผชิญหน้าและรับมือกับโรคนี้
ในภาพยนตร์เรื่องนี้ได้พูดถึงแง่มุมของสิ่งที่มีค่าไม่แพ้ความทรงจำและความรู้ นั่นก็คือครอบครัว หรือผู้ที่คอยอยู่ดูแลเคียงข้าง ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถผ่านโรคอันโหดร้ายนี้ไปได้
นับเป็นภาพยนตร์ที่ดีงามเป็นอย่างมากในการให้ความรู้แก่เราในเรื่องของโรคอัลไซเมอร์ ใครที่ยังไม่เคยดู ลองหากันดูได้ และหากใครเริ่มสังเกตความผิดปกติของคนใกล้ตัวแบบเดียวกับในเรื่องนี้ ก็อย่าละเลยไปนะครับ การปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านประสาทวิทยา สามารถช่วยให้คำตอบและคำแนะนำแก่คุณได้ในเรื่องนี้
และเดี๋ยวนี้การเข้าถึงแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก็ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไปแล้วนะครับ ด้วยเทคโนโลยี Telemedicine อย่างเช่น See Doctor Now ที่พร้อมช่วยให้การเข้าถึงแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาขา ง่ายดายและสะดวกสบายยิ่งขึ้นครับ
โหลดแอพ See Doctor Now ได้ทั้งจาก iOS และ Android และให้เราช่วยดูแลคุณนะครับ
Source:
www.alz.org/alzheimers_disease_what_is_alzheimers.asp