August 24, 2017 Editorial

การรับฟัง คือความเข้าใจ และหมายความถึงความรัก

การรับฟัง อาจจะฟังดูเหมือนเป็นสิ่งเล็กๆ ง่ายๆ แต่ที่จริงแล้วเป็นสิ่งสำคัญอย่างหนึ่ง และมักจะถูกละเลยอย่างไม่น่าเชื่อ

 

ในการดำเนินชีวิตทุกๆ วัน เราต้องเผชิญกับเรื่องราวต่างๆ มากมาย บางเรื่องทำให้ชีวิตมีความสุขสดใส แต่บางเรื่องก็แสนจะหนักอึ้งอยู่ในใจ ทำให้เครียดและวิตกกังวลกับมัน และเมื่อจมอยู่กับความรู้สึกหนักอึ้งเช่นนั้นเป็นเวลานาน ก็จะเกิดเป็นความทุกข์ และเกิดคำถามว่าจะจัดการกับความรู้สึกเหล่านั้น และผ่านมันไปให้ได้อย่างไร

 

การรับฟัง และการพูดคุย ในจุดประสงค์ที่แตกต่าง

การรับฟัง และการพูดคุย ในจุดประสงค์ที่แตกต่าง

การสื่อสารความรู้สึกเหล่านั้นออกมาถือว่าเป็นเรื่องจำเป็นมากครับ

แม้ว่าในปัจจุบันนี้เทคโนโลยีจะช่วยให้การสื่อสารไร้ขีดจำกัด ผู้คนสามารถคุยกันได้จากทั่วทุกมุมโลก และสามารถทำได้หลายรูปแบบ ทั้งผ่านการแชท คุยโทรศัพท์ หรือคุยแบบเห็นหน้า แต่การสื่อสารอย่างลึกซึ้ง การพูดคุยและการรับฟังอย่างแท้จริงกลับดูจะถดถอยลง

การสื่อสารมีจุดประสงค์หลายอย่าง แต่สำหรับผู้ที่กำลังมีความทุกข์ ต้องการเพียงแค่ความเข้าใจครับ

หากว่าคุณมีเพื่อน หรือคนใกล้ตัวที่กำลังเจ็บปวด เสียใจ โกรธ ไม่ว่าด้วยเรื่องอะไร คุณเพียงขอให้เขาระบายมันออกมาครับ ให้เปิดเผยความรู้สึกที่แท้จริงไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกที่รุนแรง หรือเศร้าเสียใจขนาดไหน

 

การรับฟัง และความเข้าใจ คือหัวใจหลัก

การรับฟังและความเข้าใจ คือหัวใจหลัก

การรับฟังอย่างแท้จริงที่จะสามารถช่วยผู้อื่นได้นั้น ต้องเป็นการรับฟังที่เป็นเหมือนการสื่อสารออกไปว่า สิ่งที่สำคัญสำหรับผู้พูด ก็สำคัญสำหรับเราด้วย และสิ่งที่คนฟังควรจะทำ เพื่อให้อีกฝ่ายหนึ่งรู้สึกว่า เรารับฟังเขาอย่างแท้จริงก็คือ การฟังอย่างจริงใจ ฟังด้วยความเข้าใจ และฟังอย่างละเอียด

นั่นหมายถึงคุณ (ซึ่งเป็นผู้รับฟัง) ไม่จำเป็นต้องใช้ตรรกะหรือเหตุผลใดๆ ในการฟัง คุณเพียงให้อีกฝ่ายหนึ่งได้เปิดเผยความรู้สึกที่แท้จริงออกมาให้หมด แม้ว่าคุณอาจจะไม่ได้เนื้อความอะไรที่ครบถ้วนสมบูรณ์ในการเล่าเรื่องหรือระบายความรู้สึกจากฝ่ายนั้นก็ตามที่ แต่นั่นไม่ใช่สิ่งสำคัญ เพราะสิ่งที่สำคัญที่สุดในการรับฟังความทุกข์ของผู้อื่นก็คือ การได้รับรู้ความทุกข์ของเขา ได้รับรู้ว่าเขากำลังรู้สึกอย่างไร รวมถึงให้ผู้ที่กำลังมีความทุกข์อยู่นั้นรับรู้ด้วยว่า เรากำลังอยู่กับเขาด้วยในห้วงขณะนั้น

 

ฟังยังไงเรียกว่าเข้าใจ?

ฟังยังไงเรียกว่าเข้าใจ?

หัวใจสำคัญของการฟังด้วยความเข้าใจก็คือ การที่ผู้ฟังเข้าไปอยู่ในโลกของผู้เล่า โดยไม่ตัดสินฝ่ายนั้น ยอมให้เขาเป็นอย่างที่เขาต้องการ และพยายามเข้าใจในทุกสิ่งที่เขาพูดออกมา ทั้งๆ ที่มันฟังดูไม่มีเหตุผล ไม่น่าเห็นด้วย หรือค้านกับความรู้สึกของตัวเอง นั่นถือว่าเป็นการเข้าใจอย่างแท้จริงและเพียงพอแล้วครับ

ที่สำคัญผู้ฟังควรที่จะให้ผู้เล่าได้ตัดสินใจด้วยตัวเอง แม้ว่ามันอาจเป็นการตัดสินใจที่ดูไม่มีเหตุผล หรืออาจเป็นการตัดสินใจที่ผิด เราซึ่งเป็นผู้ฟังก็จะเชื่อมั่นในการตัดสินใจนั้น ซึ่งหมายความว่าเราเชื่อใจเขา และยังเป็นการแสดงออกว่า เราไว้ใจเขาให้จัดการกับปัญหาด้วยตัวเอง อันจะทำให้เขารู้สึกมีคุณค่า

 

ฟังแล้วต้องแนะนำอย่างไร

ฟังแล้วต้องแนะนำอย่างไร

บางครั้งคนที่ต้องการระบายความทุกข์ก็ไม่ได้ต้องการคำชี้แนะ ความสงสาร หรือความเห็นใจ เขาเพียงแค่ต้องการคนรับฟัง ซึ่งเพียงเท่านี้ก็ทำให้เขารู้สึกอุ่นใจแล้วครับ

แต่หากผู้ฟังคิดว่าผู้ที่ระบายความทุกข์ควรได้รับคำแนะนำ หรือคำชี้แนะ ก็ให้เขาพูดความรู้สึกและเล่าเรื่องราวต่างๆ มาให้หมดก่อน แล้วผู้ฟังค่อยแนะนำวิธีแก้ไขในคราวหลัง เพราะบางครั้งการที่ยังฟังไม่จบและบอกวิธีแก้ไขไป หรือบอกไปในเวลาที่ผู้ที่ระบายความทุกข์ไม่ต้องการ คำแนะนำเหล่านั้นก็เหมือนคำตัดสิน ซึ่งจะทำให้ผู้ที่ระบายความทุกข์รู้สึกแย่กว่าเดิม เพราะรู้สึกเหมือนไม่มีใครเข้าใจ และไม่มีใครรับรู้ความทุกข์ของเขา และผู้ฟังจะไม่ได้รู้เลยว่า คำแนะนำหรือตำตัดสินเหล่านั้นถูกต้องหรือไม่ นอกจากนั้น การแนะนำจะปิดกั้นความเข้าใจ ความรู้สึกของกันและกัน ทั้งผู้ที่ระบายความทุกข์และผู้ฟัง

เพราะฉะนั้น แค่การรับฟัง ก็ทำให้ผู้ที่มีความเศร้ารู้สึกมีตัวตน และรับรู้ได้ว่ามีคนเห็นความทุกข์ของเขาแล้ว

แต่หากพบว่าผู้ที่มีความทุกข์หรือความเศร้า มีทัศนคติแง่ลบกับชีวิต มีความคิดจะทำร้ายตัวเอง ทำร้ายคนรอบข้างหรือคิดจะฆ่าตัวตาย จึงค่อยชักจูงให้เปลี่ยนทัศนคติเป็นบวก และควรแนะนำเกลี้ยกล่อมให้ไปพบจิตแพทย์ด้วยครับ

 

คนที่ระบายความทุกข์ต้องการให้เราฟังอย่างเดียวหรือ

คนที่ระบายความทุกข์ต้องการให้เราฟังอย่างเดียวหรือ

การรับฟังอาจจะดูเหมือนเป็นแค่สิ่งเล็กๆ นะครับ แต่ความจริงแล้วแค่การรับฟังก็สามารถลดความทุกข์ในใจคนคนเล่าได้แล้วครับ การรับฟังจะทำให้เขารู้สึกว่า ยังมีคนอยู่กับเขาในขณะนั้น เขาไม่ได้อยู่ตัวคนเดียว บางครั้งอาจจะเป็นแค่การพูดคุยประมาณหนึ่งชั่วโมงก็สามารถเยียวยาความรู้สึกของผู้ระบายความทุกข์ได้มากแล้วครับ

 

นอกจากการฟังจะส่งผลต่อผู้พูด ยังส่งผลดีต่อผู้ฟังด้วย

นอกจากการฟังจะส่งผลต่อผู้พูด ยังส่งผลดีต่อผู้ฟังด้วย

การรับฟังผู้ที่ระบายความเศร้า ความทุกข์ ฟังดูเหมือนจะไม่ใช่เรื่องยาก แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเช่นกัน

ผู้ฟังต้องใช้ความเข้าใจ ความอดทนอย่างหนักในการรับฟัง บางครั้งอาจจะทำให้ผู้ฟังเหนื่อยทั้งกายและใจ แต่หลังจากผู้ฟังได้ฟังเรื่องราวเหล่านั้น ได้มองหน้าผู้ที่กำลังมีความทุกข์ รับรู้ความรู้สึกและน้ำเสียงของเขา สิ่งเหล่านั้นจะทำให้ผู้ฟังเป็นคนที่จิตใจละเอียดอ่อนขึ้น รู้จักสังเกตปฏิกิริยาของคนรอบข้าง และจะนำมาซึ่งความเข้าใจ รับรู้ความรู้สึกของเขา แม้ว่าเขาจะยังไม่ได้พูดออกมา และเป็นคนที่เห็นอกเห็นใจคนอื่นมากขึ้นครับ

 

การรับฟัง ช่วยได้มากกว่าที่คิด

การรับฟังช่วยได้มากกว่าที่คิด

การรับฟังก็เป็นการสื่อสารอย่างหนึ่งครับ ซึ่งนอกจากจะช่วยให้เข้าใจกันและกันมากขึ้นแล้ว การพูดคุยและการรับฟังกันจะช่วยลดและป้องกันปัญหาต่างๆ ตั้งแต่ปัญหาเล็กๆ ไปจนถึงปัญหาใหญ่ๆ และยังช่วยลดความขัดแย้ง ไม่ว่าจะด้านไหนในชีวิตอีกด้วย

มาเริ่มฝึกการรับฟังคนอื่น แล้วคุณอาจจะพบความสุขใจจากการได้รับฟังคนรอบข้างอย่างแท้จริง และอาจจะช่วยหยุดปัญหาหรือความทุกข์ของคนที่คุณรัก ก่อนจะลุกลามไปเป็นปัญหาใหญ่โต

และวันหนึ่งคนอื่นก็อาจจะเป็นผู้รับฟังคุณบ้างก็ได้นะครับ

, ,