September 22, 2017 Editorial

เจอคนกำลังชักอยู่ตรงหน้า จะช่วยเหลือยังไงดี?

เรื่องไม่คาดคิดเกิดขึ้นกับชีวิตเราได้เสมอ และถึงแม้การต้องเจอกับผู้ที่มีกำลังมีอาการ ชัก อาจดูเหมือนไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ทุกอย่างก็เป็นไปได้ทั้งนั้น เพราะฉะนั้นการหาความรู้เกี่ยวกับอาการนี้เอาไว้ล่วงหน้า เพื่อเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ ก็อาจช่วยให้เราสามารถช่วยเหลือผู้มีอาการชักได้อย่างเหมาะสม

 

อาการชักเป็นยังไง

อาการชักเป็นยังไง

ก่อนอื่น เราคงต้องเรียนรู้ที่จะแยกแยะอาการชักให้ได้เสียก่อน นั่นเพราะอาการชักมีหลายแบบ ไม่ใช่เพียงแค่อาการชักแบบกล้ามเนื้อเกร็งกระตุกอย่างเห็นได้ชัดเจนเท่านั้น แต่ในความเป็นจริงอาการชักมีหลายลักษณะด้วยกัน โดยทั่วไปสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 แบบคือ อาการชักที่มีผลต่อทุกส่วนของสมอง (Generalized Seizures) อาการชักบางส่วน (Focal or Partial Seizure) และกลุ่มอาการชักแบบพิเศษ ได้แก่ reflex epilepsy การชักในเด็กที่มีไข้สูง Hysterical seizure เป็นต้น

อาการอาการชักที่มีผลต่อทุกส่วนของสมอง จะมีสองลักษณะใหญ่ๆ คือ อาการชักแบบแกรนด์มาล (Grand mal) เป็นแบบพบบ่อยที่สุด จะมีอาการเกร็ง (Tonic phase) ของกล้ามเนื้อทั่วร่างกายทันที ถ้าผู้ป่วยยืนหรือนั่งอยู่จะล้มลงและร้อง อาจหยุดหายใจ และหน้าเขียว ผู้ป่วยจะกัดฟันแน่น กำมือตาเบิกกว้าง รูม่านตาขยาย และอยู่นิ่งๆ กินเวลา 30 วินาทีถึง 1 นาที เริ่มเข้าสู่ระยะชัก (clonic phase) มีกล้ามเนื้อกระตุกเป็นจังหวะ ที่แขนขา กลั้นปัสสาวะ อุจจาระไม่อยู่ อาจกัดริมฝีปาก ลิ้น หายใจกระตุกและมีเสียงดัง มีน้ำลายเป็นฟองไหลออกจากปาก

อีกแบบคือ อาการชักแบบเปติดมาล (Petitmal) มักพบในวัยเด็กอายุ 8-10 ปี อาการมีเพียงหน้าซีด หมดสติไปชั่วขณะ 5-30 วินาที และอาจจะเกิดขึ้นวันละหลายๆ ครั้ง บางรายมีอาการปากบิดเบี้ยว หน้าเบี้ยวร่วมด้วย

ส่วนอาการชักบางส่วน จะเกิดอาการชักที่ส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายเท่านั้น จะเป็นการกระตุกเฉพาะที่ อาจเริ่มที่มือข้างใดข้างหนึ่ง แล้วกระจายไปยังกล้ามอื่นๆ ที่นิ้วมือ หัวแม่มือ นิ้วชี้ มุมปากและนิ้วหัวแม่เท้า หรืออาจเป็นอาการชักแบบไม่รู้ตัว (Complex Partial Seizures) ซึ่งผู้ป่วยจะมีอาการเช่น ขยับริมฝีปาก ถูมือ ทำเสียงแปลกๆ หมุนแขนไปรอบๆ จับเสื้อผ้า เล่นกับสิ่งของในมือ อยู่ในท่าทางแปลกๆ เคี้ยวหรือกลืนอะไรบางอย่าง โดยในขณะที่เกิดอาการ ผู้ป่วยจะไม่สามารถรับรู้ถึงสิ่งที่เกิดขึ้นรอบข้างได้เลย

สาเหตุของการเกิดอาการชัก

สาเหตุของการเกิดอาการ ชัก

อาการชัก เป็นความผิดปกติของสมองอย่างหนึ่ง เกิดจากการที่สมองเสียการทำงานไปชั่วขณะ เกิดการปลดปล่อยกระแสไฟฟ้าที่ผิดปกติออกมาชั่วครู่ ทำให้ผู้ป่วยแสดงอาการชักออกมา  อาการชักเกิดได้จากหลายสาเหตุ โดยสาเหตุหลักๆ ที่พบกันก็คือ

• เกิดจากความผิดปกติทางกรรมพันธุ์ บาดเจ็บระหว่างคลอด โรคหลอดเลือดสมอง

• เกิดจากรอยโรคในสมองโดยตรง จากการที่สมองได้รับการกระทบกระเทือน ซึ่งอาจเกิดในระยะแรกหรือระยะหลังบาดเจ็บแล้ว 1 ปี เนื้องอกในสมอง การติดเชื้อในสมอง เช่น ฝีในสมอง สมองอักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ รวมถึง เนื้องอกในสมอง หรือมะเร็งที่กระจายจากอวัยวะอื่น ๆ มาสู่สมอง หรือในบางรายการมีไข้สูงก็ทำให้เกิดอาการชักได้เช่นกัน

• เกิดจากความผิดปกติทางชีวเคมี อย่างเช่นน้ำตาลในเลือดตํ่า สมองขาดออกซิเจน ได้รับพิษตะกั่ว การขาดยาบางอย่าง ขาดสมดุลอิเล็กโตรไลท์ เช่น ระดับแมกนีเซียมแคลเซียม และฟอสฟอรัสในเลือดตํ่า คาร์บอนไดออกไซด์ในเลือดสูงหรืออาการไข้สูง เป็นต้น

ยังมีสาเหตุทางอ้อมที่ไปกระตุ้นให้เกิดอาการชัก เช่น อาการเหน็ดเหนื่อยทางร่างกาย อดนอน ความเครียด ท้องผูกหรือกินยากระตุ้นประสาท การหยุดยากดประสาททันทีทันใด สิ่งแวดล้อมบางอย่าง เช่น ไฟกระพริบ เสียงดัง เสียงดนตรี กลิ่น อาจเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดอาการชักได้ ในหญิงบางคนขณะมีประจำเดือนก็เกิดอาการชักได้เช่นกัน

 

เจอคนกำลังชักอยู่ตรงหน้าจะช่วยเหลือยังไงดี

เจอคนชักต่อหน้า ช่วยยังไงดี

โดยปกติแล้วผู้ที่มีอาการชัก จะสามารถหยุดได้เองภายใน 1-2 นาที แต่หากมีอาการเกินกว่า 5 นาที หรือเมื่อหยุดชักแล้วหมดสติ ควรนำผู้ป่วยส่งให้ถึงมือแพทย์อย่างเร็วที่สุด ซึ่งผู้ที่พบเห็นควรตั้งสติ อย่าตกใจจนเกินไป และใช้หลักการเหล่านี้ในการช่วยเหลือผู้ที่เกิดอาการชัก เพราะการช่วยเหลือที่ไม่เหมาะสม อาจทำให้ผู้ที่มีอาการชักได้รับอันตรายได้ และนี่คือขั้นตอนและวิธีการปฐมพยาบาลผู้ที่มีอาการชักอย่างถูกต้องครับ

1.เตรียมร่างกายผู้ป่วย

• ประคองผู้ป่วยให้นอนหรือนั่งลง

•ใช้หมอน หรือผ้านิ่มรองใต้ศีรษะผู้ป่วย

• ประคองศีรษะให้น้ำลายไหลออกทางมุมปากด้านใดด้านหนึ่ง

2.ป้องกันไม่ให้หายใจไม่ออก

• หากผู้ที่ชักใส่เสื้อผ้ารัดให้รีบคลายเสื้อผ้าให้หายใจได้สบาย โดยการปลดเข็มขัด หรือปลดกระดุมเม็ดบนของเสื้อ

• กันผู้คนที่มุงอยู่ออกไป เพื่อที่ผู้ชักจะได้มีอากาศให้หายใจได้ดี

• ห้ามใส่อะไรลงไปในปากของผู้ที่ชัก เพราะโอกาสที่ผู้ป่วยจะกัดลิ้นตัวเองมีน้อยมาก อีกทั้งถ้าเอาสิ่งของใส่เข้าไปอาจทำให้ผู้ป่วยฟันหัก และฟันที่หักอาจหลุดลงไปในหลอดลม ทำให้มีโอกาสเสียชีวิตได้

3 ป้องกันการบาดเจ็บ

-ถ้าหากผู้ที่ชักกระตุกอยู่ในที่อันตราย เช่น บนที่สูง บนขั้นบันได หรือที่อื่นใดอันอาจก่อให้เกิดอันตรายร้ายแรงได้ ต้องพยายามให้พ้นจากจุดอันตราย

-หากมีวัสดุรอบๆ ที่อาจก่ออันตรายได้ให้เคลื่อนย้ายออก นำวัตถุที่มีความคม หรือเครื่องประดับที่อาจเป็นอันตรายออกจากตัวผู้ที่ชัก

-อย่าพยายามจับแขน จับขา หรือล็อคตัวผู้ป่วยไม่ให้ชัก

4.อยู่กับผู้ป่วย

• มีสติ ไม่ตื่นตระหนกจนเกินไป ในขณะที่อยู่กับผู้ที่ชัก

• ควรสังเกตอาการและความผิดปกติของผู้ที่ชักตลอดเวลา เพื่อแจ้งแพทย์

• อยู่กับผู้ที่ชักจนกว่าจะหาย และจนกว่าแพทย์จะมาถึง

• สังเกตระยะเวลาที่ชักเพื่อใช้แจ้งแพทย์

 

สิ่งที่ผู้ป่วยมีอาการชักควรหลีกเลี่ยง

สิ่งที่ผู้ป่วยมีอาการชักควรหลีกเลี่ยง

สิ่งที่เป็นอันตรายที่สุดสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการชัก และคนรอบข้างคือการขับรถ เพราะหากผู้ป่วยมีอาการระหว่างขับ จะไม่สามารถควบคุมตัวเองและรถได้ ซึ่งอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุและกระทบถึงคนรอบข้างได้ครับ

นอกจากนี้ผู้ที่มีประวัติเคยมีอาการชัก หรือเป็นโรคลมชักควรระวังเป็นพิเศษ เมื่อต้องปีนป่ายที่สูง ทำกิจกรรมทางน้ำ หรือโดยสารเครื่องบิน