June 27, 2017 Editorial

นายแพทย์มานิตย์ ประพันธ์ศิลป์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ครอบครัว และเวชศาสตร์ป้องกัน

หนึ่งในผู้ก่อตั้งรุ่นแรกๆ ของ “มูลนิธิแพทย์ชนบท” ผู้ซึ่งมีประสบการณ์จริงในเรื่องการรักษาพยาบาลในพื้นที่ห่างไกล และทำให้เห็นความสำคัญของการใช้เทคโนโลยีการสื่อสาร Telemedicine หรือโทรเวชกรรม ที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาพยาบาล และเป็นทางเลือกของการเข้าถึงแพทย์ ไม่ว่าจะอยู่ในพื้นที่ใดก็ตาม

 

 

แรงบันดาลใจสู่การเป็น “หมอ”

“ผมเป็นคนจังหวัดบุรีรัมย์ การเดินทางไปพบหมอแต่ละครั้งลำบากมาก ในตัวอำเภอที่อาศัยอยู่มีสถานีอนามัยซึ่งไม่มีแพทย์ เวลาชาวบ้านไม่สบาย ก็รักษากันตามมีตามเกิด รวมทั้งการใช้คาถาอาคม ทั้งพรมน้ำมนต์ ทาน้ำมัน ในตอนนั้นก็เริ่มรู้สึกแล้วนะว่า ทำไมต้องทำเช่นนั้น พอเริ่มโต พ่อกับแม่ก็อยากให้เรียนหมอ เราก็ค่อยซึมซับไปเรื่อยๆ พอโตขึ้นจึงตัดสินใจเรียนหมอ อีกอย่างคือผมเป็นคนชอบวิทยาศาสตร์ เพราะทำให้เราเป็นคนคิดเก่ง เพราะวิทยาศาสตร์นั้นต้องมีหลักเกณฑ์ มีกฎ มีระเบียบ จะคาดคะเนหรือคาดเดาไม่ได้”

ชีวิตหมอชนบท

“ตอนนั้น พอถึงช่วงฝึกงานก็ได้ไปฝึกที่โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา พอครบ 1 ปี เราต้องทำงานใช้ทุนอีก 3 ปี ก็ประจำที่โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมานี่แหละ แต่ทำอยู่ประมาณ 3-4 เดือน ก็รู้สึกอยากได้ประสบการณ์ใหม่ๆ พอมีคนมาบอกว่าที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนขาดคน จึงชวนเพื่อนสนิทอาสาไป แม่ฮ่องสอนเป็นเมืองเล็กๆ โรงพยาบาลจังหวัด ชื่อโรงพยาบาลศรีสังวาลย์ มีหมออยู่เพียง 3 คน คือผม เพื่อนที่ไปกับผม และผู้อำนวยการ  เวลาจะรักษาคนไข้ต้องมีล่าม เพราะคนไข้ส่วนใหญ่เป็นกระเหรี่ยงกับไทยใหญ่ ซึ่งเดินเท้ากันเป็นเวลาหลายชั่วโมงหรือเป็นวัน เพื่อมาหาหมอ

ผมอยู่ที่นั่นเกือบ 1 ปี ก็ถึงเวลาผลัดเปลี่ยนให้หมอรุ่นน้องมาทำหน้าที่ต่อ ส่วนผมย้ายไปอยู่ที่อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย ที่นี่ติดชายแดนลาว ตรงข้ามกับเวียงจันทร์ซึ่งกำลังจะแตกจากการสู้รบกับพรรคคอมมิวนิสต์ ผู้ป่วยที่เจอส่วนหนึ่งจึงมาจากสาเหตุของการสู้รบ ที่นี่น่ากลัวกว่าแม่ฮ่องสอน เพราะได้ยินเสียงปืน เสียงระเบิด รอยลูกปืนฝังอยู่ริมตึกโรงพยาบาลกันเลย ระทึกกันตลอดเวลา ผมประจำอยู่ 2 ปี ก็ย้ายเพื่อหาประสบการณ์ใหม่ๆ”

 

คุณหมอ “นักบุกเบิก”

“ต่อมาได้ย้ายมาอยู่ชายแดนเขมร อำเภอบ้านกรวด จังหวัดบุรีรัมย์ ตัวโรงพยาบาลห่างจากชายแดนเพียง 7 กิโลเมตร ที่นี่ผมได้ไปบุกเบิก เพราะมีโรงพยาบาลแต่ไม่มีหมอ สมัยก่อนนั้นตึกสร้างได้ แต่หาหมอมาอยู่ไม่ได้ เพราะจำนวนหมอไม่พอกับความต้องการ ในตอนที่ผมไปอยู่นั้นแทบไม่มีอะไรเลย มีบุคลากรเพียงสองสามคนที่ประจำสถานีอนามัย มีอุปกรณ์ทางการแพทย์เพียงบางอย่าง และยาไม่ถึงสิบชนิดที่ยกมาจากสถานีอนามัย

ผมต้องไปเริ่มนับหนึ่งใหม่ ต้องบริหารงานเองทั้งหมด เริ่มตั้งแต่ประกาศรับสมัครบุคลากร ด้วยเงื่อนไขว่ายังไม่มีเงินเดือนให้ แต่มีเมื่อไหร่จะจ่ายให้แน่นอน จากนั้น ก็จัดหายาเพื่อมารักษาคนไข้ ก็ไปขอติดค่ายากับเถ้าแก่ร้านขายยาไว้ ไม่เช่นนั้นไม่มียาไปรักษาคนไข้ กว่าจะรอยาจากหลวง โรงพยาบาลก็คงทำประโยชน์ให้ประชาชนได้น้อย แต่จะโทษหลวงก็ไม่ได้ เพราะสมัยก่อนงบประมาณน้อย ต้องรองบประมาณประจำปี เขาก็ช่วยเท่าที่ช่วยได้ เราก็ต้องดิ้นรนหารายได้เข้ามาหมุนเวียนใช้จ่ายในโรงพยาบาล ก็ต้องทำประชาสัมพันธ์เพื่อให้ชาวบ้านรู้ว่า ที่โรงพยาบาลมีหมอแล้วนะ ก็ทำในลักษณะหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ ไปบริการฉีดวัคซีน แจกยาคุม ทำทุกอย่าง จากเดิมที่ไม่มีคนไข้ เพียงเดือนเดียวก็มีคนไข้มารักษาวันละ 50-60 คน ทำให้โรงพยาบาลเริ่มมีรายได้ และดำเนินการต่อมาได้

ผมทำอยู่ 1 ปี มีแพทย์จบใหม่มารับช่วงต่อ จึงลาออกจากราชการ ช่วงนั้นเขมรแดงกับเขมรขาวรบกัน และยังมีเหตุการณ์ทางการเมืองเกี่ยวกับการยึดอำนาจ สถานการณ์เริ่มไม่ปลอดภัย ผมถูกเพ่งเล็งจากการที่เคยจัดตั้งสหพันธ์แพทย์ชนบท จึงมีแต่เรื่องวุ่นวาย มีความลำบากในการทำงาน จึงตัดสินใจลาออก”

 

เดินหน้า “ชมรมแพทย์ชนบท”

“ตอนนั้นก็ย้ายกลับมาทำงานโรงพยาบาลเอกชนที่จังหวัดนครราชสีมา เหมือนได้กลับมาพักผ่อน อยู่ได้ประมาณ 8-9 เดือน สถานการณ์ทางการเมืองเริ่มดีขึ้น ผมเลยกลับมารับราชการอีกครั้ง ก็ไปอยู่ที่อำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์ เพราะเพื่อนสนิทที่เคยไปอยู่แม่ฮ่องสอนด้วยกัน จะลาออก ผมก็ขอไปอยู่แทน

พอมาอยู่ที่นี่ ผมก็ได้ออกมาเดินหน้าจัดตั้งชมรมแพทย์ชนบทอีกครั้งในปี 2520 ช่วงแรกก็ยังโดนเพ่งเล็งเหมือนเดิม แต่ผมบริสุทธิ์ใจ ก็ทำจนสำเร็จ ผมได้รับเลือกตั้งให้เป็นประธานชมรมแพทย์ชนบทสมัยที่ 2 และ 3 และเมื่อพ้นตำแหน่ง มีคนเสนอว่าควรมีองค์กรที่เป็นนิติบุคคล เพื่อมาสนับสนุนงานแพทย์ชนบท จึงมอบให้ผมไปจัดตั้งมูลนิธิแพทย์ชนบท ซึ่งก็ได้รับความเมตตาจากอาจารย์นายแพทย์เสม พริ้งพวงแก้ว มาเป็นประธาน อาจารย์นายแพทย์ไพโรจน์ นิงสานนท์ และผู้ใหญ่อีกหลายท่าน เป็นคณะกรรมการ ส่วนผมเป็นเลขาฯ

สู่เส้นทาง “อาจารย์แพทย์” และ “อาชีวเวชศาสตร์”

“ตอนนั้นผมมีครอบครัวแล้ว จึงเริ่มวางแผนว่าอยากให้ลูกไปโตที่ไหน ก็นึกถึงจังหวัดเชียงใหม่ จึงไปหาซื้อบ้านไว้ แต่ยังไม่ได้ย้ายไปอยู่ทันที ยังทำงานที่ประโคนชัยเหมือนเดิม พอลูกอายุได้ 3 ขวบ เพื่อนที่อยู่โรงพยาบาลสารภีจะไปเรียนต่อต่างประเทศจึงย้ายไปอยู่แทนเขา และเป็นจังหวะที่รองสาธารณสุขจังหวัดจะไปเรียนต่อต่างประเทศ ก็เลยอุปโลกน์ให้ผมรักษาการ 3 ตำแหน่งในขณะนั้นคือ สาธารณสุขจังหวัด รองสาธารณสุขจังหวัด และทำงานโรงพยาบาล ช่วงนั้นยุ่งมาก ช่วงเช้าต้องตรวจคนไข้ที่โรงพยาบาล พอสายๆ ต้องเข้าไปสำนักงาน พอเย็นๆ ก็กลับมาตรวจคนไข้อีกครั้ง ทำอยู่ประมาณ 7-8 เดือน ทางมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ก็มาเชิญให้ไปช่วยสอนนักศึกษาแพทย์ ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ในระหว่างเป็นอาจารย์สอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้รับทุนจากรัฐบาลสิงค์โปร์ ไปเรียนที่ NUS (The National University of Singapore) เลือกเรียนสาขา Occupational Medicine คืออาชีวเวชศาสตร์ ซึ่งก่อนหน้านั้นเรียก Industrial Medicine วิชาเวชศาสตร์อุตสาหกรรม ที่เลือกเรียนสาขานี้ เพราะเมืองไทยมีคนเรียนด้านนี้น้อย และสถานที่เรียนก็มีไม่มาก

จุดเริ่มต้นของวิชานี้เกิดขึ้นในยุโรป จากกลุ่มคนงานที่มีความเสี่ยงสูงในการทำงานในโรงงาน และต่อมาภายหลังก็ได้เล็งเห็นว่าความเสี่ยงของโรคไม่ได้มีแค่ในโรงงานเพียงเท่านั้น แต่ในทุกสาขาอาชีพล้วนมีความเสี่ยงของโรคที่แตกต่างกัน จึงเปลี่ยนชื่อมาเป็น Occupational Medicine ว่าด้วยเรื่องการดูแลสุขภาพของคนทำงานในหลากหลายอาชีพ

พอเรียนจบก็กลับมาเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เหมือนเดิม ในระหว่างนั้นก็คิดโปรเจคต่างๆ เพื่อสอนนักศึกษาแพทย์ได้มากขึ้น เป็นช่วงไฟแรง อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น แต่ไม่ได้เป็นไปตามที่หวัง อาจเป็นด้วยเรื่องของกระบวนการนั้นต้องใช้เวลานาน แต่ผมเป็นคนคิดเร็ว ทำเร็ว จึงตัดสินใจลาออก”

 

จาก “แพทย์” สู่ “ผู้บริหาร” บริษัทเอกชน

“ตอนนั้นก็ย้ายมาทำงานบริษัท ยูนิลิเวอร์ ในตำแหน่ง Medical Advisor เป็นที่ปรึกษาในเรื่องสุขภาพพนักงาน สุขอนามัย สุขลักษณะ (Hygiene) ของโรงงาน ดูแลเรื่องความปลอดภัยของโรงงาน ดูระบบป้องกัน ให้คำปรึกษาในศูนย์วิจัยและพัฒนาคุณภาพสินค้า งานก็แตกต่างจากที่เคยทำพอสมควร แต่เพราะเคยมีประสบการณ์ด้านบริหารมาบ้างจึงไม่ใช่อุปสรรค ทั้งยังเคยเรียนเรื่องอาชีวความปลอดภัย การควบคุมโรค การป้องกัน การสร้างเสริมสุขภาพ เรื่องใหม่สำหรับผมในขณะนั้นคือเรื่องธุรกิจเท่านั้น เช่น ศัพท์ทางการตลาด กำไร ขาดทุน การโฆษณา

ดูเหมือนรูปแบบการทำงานจะเปลี่ยนแปลงไปมาก แต่ในความเป็นจริงก็ยังอยู่ในฐานะหมอ เพราะยังต้องออกตรวจคนไข้ ยังใช้วิชาชีพหมอถึง 80% แค่ไม่ได้ไปประจำอยู่ที่โรงพยาบาล แต่ไปอยู่ตามห้องพยาบาลบริษัท ห้องพยาบาลโรงงาน ต้องดูแลพนักงานในโรงงาน เช่น ป้องกันการเกิดโรคในโรงงาน ผมบอกผู้จัดการโรงงานทุกคนว่า พอหมดเวลาทำงาน พนักงานควรรู้สึกว่ายังมีแรงไปเที่ยวต่อได้ ไม่เช่นนั้นแสดงว่าโรงงานผิด เราใช้งานพนักงานเกินไป ซึ่งต้องทำการปรับเปลี่ยนและป้องกัน

ในปีแรกก็จะวุ่นวายอยู่กับเรื่องพวกนี้ พอปีต่อๆ มาก็สบาย เพราะเราวางระบบ วางวิธีป้องกันไว้แล้ว พนักงานก็มีสุขอนามัยที่ดี เราเพียงไปเยี่ยมเยียนทักทายถามเรื่องสุขภาพทั่วๆ ไป แต่ในระหว่างที่ทำงานผมก็ศึกษาเพิ่มเติมไปเรื่อยๆ และเลือกนำมาดัดแปลงให้เหมาะสม อย่างเช่นในเรื่องของ Ergonomic (ศาสตร์ว่าด้วยการออกแบบเครื่องมือเครื่องใช้ และสภาพแวดล้อมในการทำงานให้ถูกสุขลักษณะ เหมาะกับสภาพร่างกาย) นี่ก็เป็นอีกสาขาหนึ่งที่หมอไม่ได้เรียนโดยตรง ตอนเรียนอาชีวเวชศาสตร์ก็มีเรียนไม่มาก ผมจึงต้องศึกษาเพิ่มทางด้านนี้เพื่อหาทางป้องกันให้ถูกวิธี เช่น การดัดแปลงเครื่องจักรและสถานที่ทำงาน ถือเป็นประสบการณ์ใหม่ๆ ที่ดี ผมทำอยู่ที่ยูนิลิเวอร์ 16 ปี

หลังเกษียณอายุก็มาเป็นที่ปรึกษาให้กับราชการที่สำนักงานกองทุนสนันสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ด้านพัฒนาองค์กรและด้านการประเมินผลทำอยู่ 8-9 ปี ปัจจุบันเป็นที่ปรึกษาโครงการ เขียนแผนพัฒนา ให้หน่วยงานของรัฐบาลอยู่หลายแห่ง รวมถึงการวิเคราะห์ปัญหา วางแผน ทำคู่มือพัฒนา”

 

จุดประกายความสนใจ “โทรเวชกรรม (Telemedicine)”

“ในสมัยก่อน การรักษาสำหรับคนต่างจังหวัดเป็นไปด้วยความยากลำบาก เมื่อก่อนสมัยที่ผมอยู่ต่างจังหวัด ยังไม่มีเครื่องมือสื่อสารระหว่างอำเภอกับจังหวัดเลย พอต่อมาก็มีพวกวิทยุเคลื่อนที่ วิทยุคลื่นสั้น ยุคนั้นมีเพียงแพทย์ของมูลนิธิแพทย์อาสา สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (พอสว.) เท่านั้นที่ได้ใช้ในราชการชายแดน ต่อมาก็มีการใช้คอมพิวเตอร์ แต่ก็เป็นการเชื่อมโยงกันผ่านตัวหนังสือ หรือเสียง ยังไม่มีภาพ แต่เดี๋ยวนี้เป็นยุคของสมาร์ทโฟนแล้ว มีทั้งภาพทั้งเสียงที่พร้อมใช้งาน

ความก้าวหน้าของการสื่อสารแบบนี้ ทำให้การติดต่อกันระหว่างบุคลากรทางการแพทย์ด้วยกันดีขึ้น เช่น มีหมออยู่กับคนไข้ แต่อาจไม่มีความชำนาญหรือเชี่ยวชาญในสิ่งนั้น ก็จะมีหมออีกท่านคอยให้คำแนะนำ หรือใช้ Monitor ดูอาการผู้ป่วยที่ต้องมีการติดตามผลทางการแพทย์ เช่น หลังกินยาแล้วอาการเป็นอย่างไร บุคลากรที่สถานีอนามัยสามารถรายงานกลับมาหาหมอ คนไข้ก็ไม่จำเป็นต้องมาหาหมอที่โรงพยาบาล สามารถติดตามผลและปรับการรักษาได้ทันที

อีกเรื่องก็คือใช้ในการให้คำปรึกษา เป็นการเชื่อมโยงระหว่างคนไข้กับบุคลากรทางการแพทย์โดยตรง ซึ่งแต่เดิมปกติต้องเข้าไปพบแพทย์ด้วยตนเอง ก็สามารถรับคำปรึกษาผ่านทางระบบสื่อสารได้ โดยเฉพาะการสื่อสารด้วยสมาร์ทโฟนที่สามารถมองเห็นหน้ากันได้ ซึ่งแพทย์สามารถสังเกตอาการได้จากสีหน้าน้ำเสียงและภาพของจุดที่เป็นปัญหา ทำให้สามารถให้คำปรึกษาที่เหมาะสมได้มากยิ่งขึ้น ซึ่งในสหรัฐอเมริกานั้น การให้บริการคำปรึกษากับหมอผ่านทางสมาร์ทโฟนนั้น เป็นที่นิยมมากขึ้นโดยเฉพาะในคลินิค

แต่วิธีการนี้ก็มีข้อจำกัดอยู่ หากเป็นโรคที่ต้องตรวจครบถ้วนสมบูรณ์ เช่น ต้องตรวจร่างกายโดยละเอียด เอ็กซเรย์ เจาะเลือด หรือต้องเพาะเชื้อ ผู้ป่วยย่อมต้องไปพบหมอโดยตรง แต่หากเป็นเรื่องสามัญ หรือเป็นการคาดคะเนโรคของคนไข้เอง ก็สามารถปรึกษาเพื่อคลายความกังวล หรือรับคำแนะนำเพื่อการปฏิบัติตัวให้ถูกต้องได้ เช่น อ่านไลน์ อ่านหนังสือมาแล้ววิตกกังวล ว่าเรามีอาการแบบนั้นแบบนี้ ก็สามารถปรึกษาหมอเพื่อคลายความกังวลนั้นได้ โรคสามัญทั่วไปไม่จำเป็นต้องพบหมอโดยตรง เช่น โรคหวัด ท้องเสียเล็กน้อย ปวดกล้ามเนื้อ โรคเหล่านี้ไม่จำเป็นต้องกินยา เพียงปฏิบัติตัวให้ถูกวิธีเพียงเท่านั้น การปรึกษาผ่านสมาร์ทโฟนนี้จะทำให้ได้รับการวินิจฉัยที่ฉับไว ให้ผู้ป่วยได้คลายกังวล และปฏิบัติตัวอย่างถูกวิธี

การสื่อสารในปัจจุบันนั้นรวดเร็ว ข้อมูลข่าวสารมีมาก ทำให้คัดกรองได้ยาก การมีผู้เชี่ยวชาญมาช่วยวิเคราะห์นั้นย่อมดีกว่า”

นพ.มานิตย์ ประพันธ์ศิลป์

อนุมัติบัตร สาขาเวชศาสตร์ครอบครัว และสาขาเวชศาสตร์ป้องกัน

ปริญญาบัตรและสถาบันการศึกษา

  • แพทยศาสตร์บัณฑิต, จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย, 2516
  • มหาบัณฑิต, National University of Singapore, 2529

 

การศึกษาหลังปริญญา

  • Master Student, Occupational Medicine, National University of Singapore, 2528-2529

 

แขนงที่สนใจเป็นพิเศษ

  • Family Medicine
  • Occupational Medicine
  • Sport Medicine
,