August 25, 2017 Editorial

กรดไหลย้อน โรคยอดฮิตของคนยุคใหม่ที่รบกวนการใช้ชีวิต

กรดไหลย้อน เป็นปัญหาสุขภาพที่สามารถพบได้ในคนทุกเพศทุกวัย ทั้งหญิงและชาย ตั้งแต่เด็กจนไปถึงผู้สูงอายุ และถือเป็นปัญหาสุขภาพลำดับต้นๆ ของประเทศอีกด้วย โรคกรดไหลย้อนเกิดจากการละเลยการดูแลสุขภาพเล็กๆ น้อยๆ การใช้ชีวิตในปัจจุบันที่มีความเร่งรีบ การทานอาหารที่เต็มไปด้วยไขมัน และมีความเครียดสูง

ถึงแม้อาจจะไม่ใช่โรคที่จะส่งผลอันตรายต่อชีวิต แต่หากมีอาการหนักก็ทำเอาทรมานไม่น้อยเลยทีเดียว และยังส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันอีกด้วย และนอกจากนี้หากปล่อยปละละเลยการปรึกษาแพทย์ตั้งแต่ต้นเมื่อมีอาการ ก็อาจทำให้ต้องเข้าสู่กระบวนการรักษาที่ยากมากขึ้น และทำให้เกิดโรคอื่นๆ ตามมา

 

กรดไหลย้อน ย้อนจากไหนไปไหน

กรดไหลย้อน (gastroesophageal reflux disease: GERD) เกิดจากกรดในกระเพาะอาหารไหลย้อนกลับขึ้นไปในหลอดอาหาร เพราะหูรูดหลอดอาหารส่วนปลาย (LES) ที่กั้นระหว่างหลอดอาหารและกระเพาะอาหารทำงานผิดปกติ คลายตัวหรือเปิดมากเกินไป ทำให้กรดหรือของเหลวสามารถไหลจากกระเพาะอาหารไปยังหลอดอาหารได้

 

สาเหตุของ กรดไหลย้อน ที่มักโดนละเลย

การเกิดโรคกรดไหลย้อนมีได้หลายสาเหตุ และบางอย่างก็เป็นสาเหตุเล็กๆ ที่อาจคาดไม่ถึง ทำให้มักจะโดนละเลย

นั่นก็คือรูปแบบการใช้ชีวิตของคนเรา ตั้งแต่การมีน้ำหนักที่มากเกินไป ทำให้มีความดันในช่องท้องสูง และเกิดกรดไหลย้อนได้ง่าย การใส่เสื้อผ้าหรือเข็มขัดที่รัดแน่น การนอนทันทีหลังรับประทานอาหารเสร็จ จะเป็นการเพิ่มแรงดันในกระเพาะอาหาร ทำให้อาการและกรดในกระเพาะย้อนกลับมาที่หลอดลมได้ง่าย การสูบบุหรี่ ซึ่งมีสารพิษจะทำให้เกิดกรดในกระเพาะอาหารได้มากขึ้น และทำให้หูรูดอ่อนแรงอีกด้วย

พฤติกรรมเหล่านี้เป็นพฤติกรรมที่ชวนให้ร่างกายอึดอัด หรือไม่ปกติ และส่งผลต่อการทำงานของกระเพาะ รวมถึงการรับประทานอาหารมากเกินไป หรือรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง ซึ่งสามารถค้างอยู่ในกระเพาะอาหารได้นาน รวมถึงอาหารรสเผ็ดจัดเพราะเป็นอาหารที่ก่อการระคายเคืองต่อกระเพาะอาหาร และมีความเป็นกรด

การดื่มน้ำผลไม้รสเปรี้ยวจัด การดื่มแอลกอฮอล์ น้ำอัดลม มีสารที่เป็นตัวช่วยการคลายตัวของกล้ามเนื้อ และเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน ก็เป็นเครื่องดื่มที่กระตุ้นให้กระเพาะอาหารหลั่งกรดมากขึ้น ซึ่งก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคได้

ทั้งนี้ในแต่ละบุคคลต้องหมั่นคอยสังเกตอาการและอาหารที่ทานด้วยครับ เพราะแต่ละคนมีปฏิกิริยาความไวต่ออาหารไม่เท่าและไม่เหมือนกัน

ในผู้สูงอายุ ทั้งเซลล์และเนื้อเยื่อทุกชนิดของร่างกายจะเสื่อมสภาพลง รวมทั้งของหูรูดด้วย ทำให้เกิดการหย่อนประสิทธิภาพในการทำงาน อาหารและกรดในกระเพาะอาหารจึงสามารถย้อนกลับไปยังหลอกอาหารได้ง่าย และในเด็กอ่อนก็เช่นกันครับ กล้ามเนื้อหูรูดยังเจริญเติบโตไม่เต็มที่ การทำงานจึงยังไม่ได้ประสิทธิภาพมากพอ เราจึงมักจะเห็นว่าเด็กอ่อนจะมีการขย้อนนมและอาหารออกมาบ่อยๆ แต่ในส่วนของเด็กอ่อนอาการเหล่านี้จะหายไปเองเมื่อโตขึ้น เพราะกล้ามเนื้อหูรูดแข็งแรงขึ้น

และนอกจากนี้ยังมีปัจจัยจากการทำงานในส่วนอื่นๆ ของร่างกาย อย่างการตั้งครรภ์ การบีบตัวของหลอดอาหารที่ทำงานผิดปกติ การขยายตัวของกระเพาะอาหารเข้าไปในโพรงหน้าอก การใช้ยาบางชนิดโดยเฉพาะยาปฏิชีวนะ แอสไพรินและยาต้านการอักเสบ หรือจากแบคทีเรียบางชนิดครับ

จะเห็นได้ว่าสาเหตุของโรคนี้นั้นมีมากมายครับ และบางสาเหตุก็เป็นสาเหตุที่คิดไม่คิดและเล็กน้อยมาก เพราะฉะนั้นจึงไม่น่าแปลกใจเลยที่โรคนี้กลายเป็นโรคยอดฮิตที่ใครๆ ก็เป็นกันได้

 

อาการของโรค กรดไหลย้อน

สำหรับในคนที่มีพฤติกรรมต่างๆ ที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดความเสี่ยงเป็นโรค แนะนำให้คอยสังเกตอาการ เพราะอาการของโรคกรดไหลย้อนนั้นดูเหมือนเป็นอาการที่เล็กน้อย เมื่อเกิดขึ้นจะทำให้คนส่วนใหญ่ละเลย และคิดว่าไม่เป็นไร และนอกจากนี้ยังยังมีอาการที่หลบซ่อนอีกด้วย ในบางคนจะมีอาการเพียงอย่างเดียว และในบางคนอาจจะมีหลายอาการร่วมกัน

อาการทั่วไปที่พบ คือมีรสเปรี้ยวเกิดขึ้นในปาก หรือเรอเปี้ยว หรือรู้สึกจุก เหมือนมีก้อนอยู่ในลำคอมีอาการระคายคอ ท้องอืด คลื่นไส้ อาเจียนหลังทานอาหาร

และอาการที่เรียกว่า heartburn คือรู้สึกแสบร้อนบริเวณหน้าอก ไปถึงลิ้นปี่ โดยอาจมีอาการเวียนหัวและคลื่นไส้ร่วมด้วย

นอกจากนี้ยังมีอาการที่ซ่อน หากพิจารณาด้วยตัวเองอาจไม่รู้ คือไอเรื้อรังโดยไม่มีสาเหตุ เสียงแหบ เจ็บคอ ฟันผุ มีกลิ่นปาก และเจ็บหน้าอก

ซึ่งอาการเหล่านี้ทั้งอาการทั่วไปและอาการที่ซ่อน อาจดูเป็นอาการของโรคอื่นๆ แต่หากมีพฤติกรรมที่อยู่ในขอบเขตความเสี่ยง ก็อาจสมมติฐานได้ว่าเป็นโรคกรดไหลย้อนได้ครับ หรือหากไม่แน่ใจหรือต้องการรักษาอย่างจริงจัง ควรปรึกษาแพทย์จะดีที่สุด

และถึงแม้ว่าอาการที่กล่าวไปข้างต้นอาจจะฟังดูไม่ทรมาน แต่ก็เป็นอาการที่จะรบกวนชีวิตประจำวันได้ นอกจากนี้ยังอาจมีอาการที่รุนแรงเพิ่มขึ้นได้ เช่น อาเจียนหลายครั้ง เรอเปรี้ยวบ่อยขึ้น ซึ่งถือเป็นอาการที่ทรมานไม่ใช่เล่นเลยนะ

 

ขั้นตอนการวินิจฉัย

ในการวินิจฉัย แพทย์จะซักประวัติเพื่อหาสาเหตุ และตรวจร่างกาย หากพบอาการที่ชัดเจนก็สามารถวินิจฉัยได้ทันที แต่หากไม่ชัดเจนจะทำการตรวจด้วยเครื่องมือเพิ่มเติม หรือในกรณีที่กินยาแล้วอาการไม่ดีขึ้นก็เช่นกัน โดยการ

• ส่องกล้องระบบทางเดินอาหารส่วนต้น (upper GI endoscopy) รวมถึงหลอดอาหาร กระเพาะอาหาร และลำไส้เล็กส่วนต้น

โดยการใช้กล้องส่องที่มีลักษณะยาว เล็ก และโค้งงอได้ และมีหลอดไฟอยู่ที่ส่วนปลายส่องเข้าไป ซึ่งแพทย์จะสามารถขยับกล้องเพื่อให้เข้าไปในร่างกายได้อย่างปลอดภัย และทำการตรวจสอบผนังของระบบทางเดินอาหารส่วนต้นได้ โดยภาพที่กล้องบันทึกได้จะปรากฏบนจอโทรทัศน์ ให้คุณภาพความคมชัดสูง ชัดเจน และมองเห็นรายละเอียดได้ ในหลายๆ กรณี การตรวจสอบด้วยการส่องกล้องจะให้ความแม่นยำมากกว่าการเอกซเรย์

  • ตรวจการบีบตัวของหลอดอาหารด้วยเครื่องวัดการบีบตัว

มี 2 ประเภท คือตรวจวัดการทำงานของลำไส้ใหญ่และหูรูดทวารหนัก (anorectal manometry) ใช้ตรวจผู้ป่วยเด็กที่มีท้องผูกตั้งแต่แรกคลอดที่สงสัยว่าลำไส้ส่วนปลายไม่มีปมประสาทแต่กำเนิด และผู้ป่วยที่มีอาการท้องผูกเรื้อรัง ที่สงสัยว่าลำไส้ใหญ่มีการทำงานที่ผิดปกติ หรือจากกล้ามเนื้อกะบังลมส่วนล่างหรือหูรูดทวารหนักทำงานผิดปกติและอีกประเภทคือ ตรวจวัดการทำงานของทางเดินอาหารส่วนต้น (esophageal manometry) ซึ่งมีหลอดอาหาร และหูรูดหลอดอาหารทั้งส่วนบนและส่วนล่าง จะใช้ตรวจในผู้ป่วยที่มีอาการกลืนลำบาก เจ็บหน้าอก หรือสงสัยว่าเป็นโรคของการทำงานของหลอดอาหารที่ผิดปกติ และวิธีนี้สามารถตรวจผู้ป่วยที่มีอาการท้องอืด แน่นท้องโดยไม่ทราบสาเหตุ หรือในผู้ป่วยที่สงสัยว่ามีการผิดปกติของการทำงานของกระเพาะอาหารการทำงานของกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้นในได้เช่นกันครับ

  • ตรวจวัดความเป็นกรด-ด่างในหลอดอาหาร หลอดคอ และกระเพาะอาหาร

เป็นวิธีที่นำเทคโนโลยีมาช่วยในการวินิจฉัย มีความสะดวกมากขึ้นทำให้ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ โดยการสอดท่อผ่านจมูกลงไปยังหลอดอาหารเพื่อติดตามวัดค่า เมื่อครบกำหนดเวลา 24 ชั่วโมงแล้วจึงนำมาประเมินผลด้วยระบบคอมพิวเตอร์ หรืออีกวิธีหนึ่งคือนำแคปซูลสอดผ่านกล้องส่องทางเดินอาหาร เพื่อติดไว้กับผนังหลอดอาหาร และแคปซูลจะส่งสัญญาณเป็นคลื่นวิทยุแสดงผลการติดตามวัดค่าความเป็นกรดไปยังเครื่องรับที่ และเมื่อเก็บผลเรียบร้อยแล้ว แคปซูลจะหลุดออกมาผ่านการขับถ่ายปกติ

  • กลืนแป้งเพื่อเอกซเรย์อวัยวะภายในที่เกี่ยวข้อง (barium esophagogram)

เป็นการถ่ายภาพรังสีกระเพาะอาหารโดยการกลืนแป้งแบเรียม เป็นการตรวจหลอดอาหาร หรือกระเพาะอาหาร  เพื่อใช้ค้นหาสาเหตุและระยะเวลาดำเนินของโรคบางชนิด เช่น มะเร็งหลอดอาหาร กระเพาะอาหารอักเสบ และกรดไหลย้อน ทำโดยการให้ผู้ป่วยดื่มสารทึบรังสี 100-120 มิลลิเมตร แล้วถ่ายภาพเอกซเรย์ส่วนที่ผิดปกติไว้ อาจทำให้เห็นการยืดขยายของหลอดอาหาร และความผิดปกติอื่นๆ ครับ ซึ่งวิธีนี้สามารถประเมินการเกิดหลอดอาหารตีบจากโรคกรดไหลย้อนหรือการมีภาวะรูเปิดกะบังลมหลวม (hiatal hernia) ได้ด้วย แต่มีประโยชน์น้อย เพราะในกรณีที่พบความผิดปกติมักต้องการการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติมโดยการส่องกล้อง

 

แนวทางการรักษา

การรักษาโรคกรดไหลย้อน สามารถทำได้หลายรูปแบบ ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการเป็นรายบุคคลไป

หากอาการไม่หนัก อาจจะลองปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตและการบริโภค โดยการควบคุมน้ำหนักไม่ให้มีมากเกินไป ไม่ใส่เสื้อผ้าหรือเข็มขัดที่รัดแน่นเกินไปจนทำให้อึดอัด นอนหลังรับประทานอาหารอย่างน้อย 4 ชั่วโมง และหมอนควรสูงอย่างน้อย 6 นิ้ว งดสูบบุหรี่ และหลีกเลี่ยงความเครียด

ในส่วนของการบริโภค ก็ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารมากเกินไป และไม่รับประทานอาหารที่มีไขมันสูงหรือเผ็ดจัด ลดปริมาณหรือไม่ดื่มแอลกอฮอล์ น้ำอัดลม และเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน

ในบางกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการหนัก แพทย์จะไม่อนุญาตให้ทานอาหารที่มีไขมันเลย และงดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างเด็ดขาดครับ อาจจะฟังดูทรมานสักหน่อยสำหรับคนที่ชอบดื่มและชอบทานของมัน แต่หากไม่ลดหรือเลิกของเหล่านี้ ความทรมานจากอาการกรดไหลย้อนอาจจะมีมากกว่าได้ครับ

และหากว่าอาการหนักเกินกว่าจะเปลี่ยนพฤติกรรมแล้วหายได้ ก็ควรรับประทานยา ซึ่งเป็นยาเคลือบกระเพาะอาหารรักษาแผล และยาลดกรด

ในกรณีการผ่าตัด ซึ่งจะพิจารณาเป็นรายบุคคลไป โดยส่วนใหญ่พิจารณาจากการทานยา หากการทานยาได้ผลก็ไม่จำเป็นต้องผ่าตัด แต่ในกรณีที่ทานยาแล้วอาการไม่ดีขึ้น และในผู้ที่ไม่สามารถทานยาได้ในระยะยาว หรือมีผลข้างเคียงจากยาจากแพทย์ก็จะแนะนำให้มีการผ่าตัดครับ

 

สัญญาณอันตรายควรไปพบแพทย์

เนื่องจากโรคกรดไหลย้อน มีหลายระดับอาการ ตั้งแต่ระดับไม่รุนแรงที่แค่เปลี่ยนพฤติกรรมก็สามารถหายได้ จนไปถึงระดับที่รุนแรง เพราะฉะนั้นผู้เป็นโรคนี้จึงควรพิจารณาและสังเกตอาการดีๆ นะครับ โดยในผู้ที่ทานยาแล้วอาการไม่ดีขึ้น แนะนำให้ไปพบแพทย์ หรือมีอาการทั่วไปของโรคกรดไหลย้อนร่วมด้วยอาการลมหายใจและชีพจรไม่ปกติ ก็ถือว่ามีความเสี่ยงที่จะเกิดอาการรุนแรงควรรีบไปพบแพทย์

นอกจากนี้ อาการรู้สึกแสบร้อนบริเวณหน้าอกมากกว่าสองครั้งในหนึ่งสัปดาห์ รู้สึกเจ็บลำคอเมื่อกลืนอาหาร และคลื่นไส้อาเจียนอย่างหนัก หรืออาเจียนเป็นเลือด ก็ควรไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยเพิ่มเติมเช่นกันครับ

 

โรคที่อาจตามมา

หากไม่รักษาอย่างจริงจังตั้งแต่เนิ่นๆ โรคกรดไหลย้อนสามารถส่งผลให้เกิดแผลอักเสบที่หลอดอาหาร หลอดอาหารตีบ และร้ายแรงกว่านั้นเซลล์ภายในหลอดอาหารอาจเกิดการเปลี่ยนแปลงและกลายเป็นมะเร็งในหลอดเลือดอาหารได้ นอกจากนั้นอาจจะเกี่ยวข้องกับโรคปอด ทำให้โรคต่างๆ ของปอดแย่ลง เช่น ปอดอักเสบ ไอเรื้อรัง โรคหอบหืดเป็นมากขึ้น

และจากข้อมูลพบว่า สาเหตุการเสียชีวิตในผู้ป่วยที่เป็นโรคกรดไหลย้อน มาจากการเกิดมะเร็งของหลอดอาหารส่วนปลาย และการเกิดมะเร็งกล่องเสียง แต่ก็เป็นสัดส่วนที่น้อยมากและน่าจะเป็นปัจจัยเสริมกับสาเหตุอื่นๆ มากกว่าเป็นปัจจัยหลัก

เพราะฉะนั้นถึงแม้โรคกรดไหลย้อนจะดูเป็นเหมือนอาการที่น่ารำคาญ และไม่ร้ายแรงอะไร แต่ก็ไม่ควรปล่อยปละละเลย อย่างน้อยก็ควรจะปรึกษาแพทย์เพื่อรับคำแนะนำในการดูแลตัวเองอย่างถูกต้องนะครับ

, , , , ,