August 21, 2017 Editorial

รู้จักรู้จริงเรื่อง อาหารเสริม จากปากคำของผู้เชี่ยวชาญ

อาหารเสริม หรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าเป็นสิ่งที่ ‘เสริม’ เข้ามา หากก็ยังมีกระแสการกินอาหารเสริมนู่นนี่นั่น ที่เชื่อกันว่าจะช่วยป้องกันหรือเสกสร้างสารพัดสิ่งวิเศษให้แก่สุขภาพของคนเราอยู่ไม่ได้ขาด

 

หากก่อนที่จะตามกระแสการกิน อาหารเสริม ใดๆ ลองมาฟัง ดร.นพ.ปณต ประพันธ์ศิลป์ จาก See Doctor Now ให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องอาหารเสริม รวมไปถึงเรื่องที่ต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้อาหารเสริมกันก่อน

 

อาหารเสริม คืออะไร?

“อาหารเสริมหรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร (Dietary supplements) ถูกจัดให้เป็นอาหารชนิดหนึ่งตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522 เพราะฉะนั้นการบริโภคอาหารเสริม ก็บริโภคได้ในลักษณะที่เป็นอาหารชนิดหนึ่ง ไม่สามารถอวดอ้างสรรพคุณว่ามีฤทธิ์ในการรักษาโรค บรรเทาอาหาร เปลี่ยนแปลงร่างกาย หรือเปลี่ยนแปลงโครงสร้างต่างๆ ของร่างกายทุกชนิดได้ เพราะว่าไม่มีใครหรือหน่วยงานใดมารับรอง

เหมือนกับเรากินอาหาร ขนม ซึ่งอยู่ภายใต้พระราชบัญญัติอาหารเหมือนกัน แม้รูปร่างหน้าตาของมันจะมีลักษณะคล้ายยา เช่น เป็นเม็ด แคปซูล ผงชงดื่ม แต่ก็ไม่ใช่ยา เพราะอะไรที่จะถูกจัดให้เป็นยานั้น ต้องมีการขึ้นทะเบียนตำรับยา ทั้งในต่างประเทศและทะเบียนตำรับยาในประเทศไทย อันนี้จะอยู่ภายใต้พระราชบัญญัติยา พ.ศ.2522

และยาแตกต่างกับอาหารเสริมอย่างมาก การจะขึ้นทะเบียนตำรับยาได้นั้น ต้องมีการพิสูจน์เชิงประจักษ์ทางหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ว่า ยาตัวนั้นมีผลออกฤทธิ์ตามที่กล่าวอ้างจริงๆ เช่น ยาตัวนี้เมื่อกินเข้าไปแล้วภายในเวลา 30 นาทีจะลดหรือหายจากอาการปวดหัว ก็จะมีสรรพคุณนี้เขียนอยู่ในฉลากยา อะไรก็ตามวัตถุออกฤทธิ์ที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงการทำงานของร่างกาย เปลี่ยนแปลงโครงสร้างของร่างกาย ต้องขึ้นทะเบียนเป็นยาทั้งหมดไม่ใช่อาหาร อาหารเรากินเพื่ออยู่ แต่ยาเรากินเพื่อรักษาโรค ทำให้การทำงานของร่างกายเปลี่ยนแปลงไป

หน้าที่ขององค์การอาหารและยาคือดูเอกสารที่ส่งมาเพื่อขึ้นทะเบียนยา ขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์อาหารเสริม ถ้าขอเป็นอาหารเสริม มีสรรพคุณเพื่อบำรุงร่างกาย ถ้าเข้าเกณฑ์การเป็นผลิตภัณฑ์อาหารเสริม ก็รับรองให้ตราอย. แต่คนที่เอาไปทำอย่างอื่นต่อเมื่อได้ตรานั้นมาแล้ว มันต้องเป็นความรับผิดชอบร่วมกันของสังคม และเจ้าของผลิตภัณฑ์ด้วยที่จะไม่โกงคนอื่น การพูดเกินจริงมันคือการหลอกลวง มันก็ทำให้คนสับสนได้”

 

 

เลือกอาหารเสริมที่ปลอดภัยได้ยังไง?

“วิธีสังเกต อาหารเสริม อย่างแรกต้องดูก่อนว่ามี อย.หรือเปล่า ถ้าไม่มีให้ทิ้งไปเลย เพราะของที่ถือว่าเป็นอาหารทุกชนิด ต้องมีอย.รับรอง อย.จะรับรองว่าอาหารตัวนี้ปลอดภัย ซึ่งอย.จะรับรองแค่ว่าอาหารตัวนี้ปลอดภัยนะครับ ไม่ได้รับรองสรรพคุณอะไร แต่ถ้าเป็นยาจะไม่มีอย. จะเขียนบนฉลากว่าเป็นตำรับยา มีเลขตำรับยา

อย่างที่สองให้ดูที่ฉลากว่าอาหารเสริมนั้นมีสรรพคุณว่าอย่างไร ส่วนใหญ่จะมีสรรพคุณทั่วไปว่าใช้บำรุงร่างกาย จะเขียนแค่นั้น แต่เวลาโฆษณาจะเป็นอีกแบบหนึ่ง มีการโม้ขึ้นมา กินแล้วขาว กินแล้วผอม จะสังเกตได้ง่ายๆ ว่าของไหนที่ไม่ได้มีสรรพคุณนั้นจริง จะจดทะเบียนเป็นอาหารเสริมแล้วอวดอ้างสรรพคุณเกินจริง โดยไม่ได้ระบุในฉลากของผลิตภัณฑ์นั้นๆ ซึ่งจริงๆ ผิดตามพระราชบัญญัติโฆษณานะครับ

การที่อวดอ้างว่ากินแล้วทำให้หายโรค กินแล้วตื่นมากระปรี้กระเปร่า มีสุขภาพดี กินแล้วฉลาด รักษาได้ทุกโรคเลย ถ้ามันมีจริงๆ คงรวยระดับโลกแล้ว ต้องดูด้วย อย่างบางบริษัทที่ใหญ่ระดับโลก เขาคงไม่กล้าโฆษณาเกินจริง เพราะเรื่องราวพวกนี้มันค่อนข้างรุนแรง ต้องมีมาตรฐานเดียวกันทั่วโลก พวกนี้จะไม่ค่อยโฆษณาเกินจริงเท่าไหร่ แต่ถ้าเป็นบริษัทที่ตั้งขึ้นมาเอง ส่วนมากจะเกินจริง ที่สำคัญเลยให้ดูที่ฉลากว่ามีสรรพคุณอะไร มีอย.รับรองไหม”

 

 

เราจำเป็นต้องกินอาหารเสริมมั้ย?

“ก็อย่างที่บอก มันเสริมเข้ามา และมันคืออาหารชนิดหนึ่งที่ใช้กิน เพื่อเสริมจากอาหารที่กินอยู่ ถ้าเกิดกินอาหารดีอยู่แล้ว ก็ไม่ต้องกินอาหารเสริมก็ได้ อาหารเสริมคืออาหารชนิดหนึ่ง จะกินหรือไม่กินก็ได้แล้วแต่ชอบ และบางอาหารเสริมก็ไม่ได้มีสรรพคุณตามที่โฆษณา

ถ้าถามว่าจำเป็นต้องกินไหม ตอบเลยว่าไม่จำเป็น แต่ถ้าอยากกินก็กินได้ อย่างเช่นถามว่าคนเราต้องดื่มเหล้าหรือเปล่า ก็แล้วแต่คน ถ้าอยากกินก็กินไปเถอะ แต่ไม่ใช่ว่ากินอาหารเสริมแล้วมันจะมีประโยชน์อะไรต่อร่างกายนะ ถ้าถามว่าควรกินเพื่อรักษาโรคอะไรบ้างอย่าง หรือเพื่อให้ร่างกายเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น อันนี้บอกได้เลยว่าไม่จริง”

 

ข้อควรระวังเกี่ยวกับอาหารเสริม

“เรื่องของการส่งผลเสียต่อร่างกาย อย่างแรกต้องดูว่าที่เรากินคืออะไร อย่างที่สองคือต้องดูปริมาณที่กินเข้าไป

ยกตัวอย่างเช่น วิตามินที่กินเข้าไป ถ้าเป็นวิตามินที่ละลายในน้ำจะไม่ค่อยมีปัญหาในการกินเกิน เช่น วิตามินซี วันนี้กิน 100 มิลลิกรัม วันต่อมากิน 3000 มิลลิกรัม กินติดต่อกันไปสามเดือน ก็ไม่เป็นไรนะ เพราะมันถูกขับออกทางปัสสาวะหมด ถ้าร่างกายนำไปใช้อย่างเพียงพอแล้ว ร่างกายมันไม่เก็บไว้ มันทิ้งหมด ถ้าเรากินเกินก็ไม่มีปัญหาเรื่องการสะสม ก็เหมือนเราไม่ได้กินอะไรไป

ส่วนวิตามินเอ ดี อี เค เป็นวิตามินชนิดที่ไม่ละลายในน้ำนะครับ ละลายในไขมันเท่านั้น แล้วร่างกายไม่ได้ขับไขมันออก น้ำร่างกายเราขับออกทางปัสสาวะ เหงื่อ ลมหายใจ แต่ไขมันไม่ได้ถูกขับออก เลยต้องถูกเผาผลาญออกเท่านั้น เพราะฉะนั้นถ้ากินวิตามินเอ ดี อี เคไปเรื่อยๆ มันสะสม และก่อให้เกิดโรคที่ผิดปกติ ไม่ควรกินเกินที่ควรจะกิน

วิตามินในทางการแพทย์ ตามปกติหมอจะเป็นผู้สั่งให้คนไข้กินในบางคน ในกรณีที่มีหลักฐานชัดเจนว่า คนไข้ขาดวิตามินบางชนิด เช่น คนไข้มาด้วยโรคลักปิดลักเปิด หมอต้องรักษาคนไข้คนนี้ด้วยการให้วิตามินซีเสริมเข้าไป วิตามินเหล่านี้ถือเป็นอาหารเสริม ซึ่งการให้ในทางการแพทย์มีข้อบ่งชี้เดียวคือ ในกรณีที่คนไข้ขาด การที่จะบอกว่าคนๆ นี้ขาด คือแสดงอาการ หรือไปเจาะตรวจ แต่ก็แพง ไม่มีความจำเป็นที่ต้องไปเจาะ ถ้าเราไม่มีอาการอะไร ก็แสดงว่าร่างกายเราปกติ ถ้าผิดปกติ มันจะแสดงอาการ”

, , , ,