July 14, 2017 admin

9 สัญญาณไม่น่าเชื่อที่บอกว่าคุณอาจเป็น “โรคซึมเศร้า”

โรคภัยไม่ได้คุกคามเราแต่เพียงร่างกาย หากจิตใจก็สามารถ “ป่วย” ได้เช่นเดียวกัน และ “โรคซึมเศร้า” ก็เป็นหนึ่งในอาการเจ็บป่วยทางจิตใจ ที่พบกันมากขึ้นเรื่อยๆ

แต่อาการของโรคซึมเศร้า ไม่ได้มีแต่เพียงอาการหดหู่และซึมเศร้าอย่างรุนแรง จนเราสังเกตได้เท่านั้น แต่มันอาจมีอาการบางอย่างที่บ่งบอกว่าถึงโรคซึมเศร้า โดยที่เราอาจไม่รู้ตัวเลยก็เป็นได้

เป็นไปได้หรือเปล่าที่เราจะเริ่มมีอาการของโรคซึมเศร้า โดยที่เราอาจไม่รู้เลยได้หรือเปล่า? นี่เป็นคำถามที่ท้าทายอย่างยิ่ง แต่แพทย์ผู้เชี่ยวชาญอย่างเช่น นพ.ริชาร์ด คราวิทซ์ อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ในสหรัฐฯ ชี้ว่า อาการของโรคซึมเศร้า ไม่จำเป็นต้องเป็นอาการหดหู่อย่างรุนแรงอย่างที่เราคิดกันเสมอไป ทำให้ผู้ป่วยบางคนไม่แน่ใจว่าตัวเองกำลังเริ่มมีอาการของโรคซึมเศร้า ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะพวกเขาไม่อยากยอมรับ แต่ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะพวกเขาไม่เห็นว่าอาการบางอย่างที่เกิดขึ้นกับตัวเองนั้น จะเชื่อมโยงกับโรคซึมเศร้าได้ยังไง

การแยกแยะปัญหาของเราจึงเป็นหัวใจสำคัญของเรื่องนี้ เพราะถ้าคุณได้รับการรักษาเร็วเท่าไหร่ มันก็จะง่ายขึ้นที่จะกลับคืนสู่ภาวะปกติสุขได้ง่ายขึ้น และต่อไปนี้คืออาการบางอย่างที่คุณอาจไม่อยากเชื่อว่า มันบ่งชี้ถึงอาการเจ็บปว่ยทางจิตใจก็เป็นได้

 

1 คุณมีอาการปวดโน่นนี่นั่นอยู่เรื่อย

อาการซึมเศร้ากับความเจ็บปวดเป็นเรื่องที่เชื่อมโยงกันได้ในเส้นทางประสาท งานวิจัยชี้ว่าราว 75% ของคนที่เป็นโรคซึมเศร้า มักจะมีอาการเจ็บปวดเรื้อรังหรือเป็นๆ หายๆ อยู่ตลอดเวลา ในการศึกษาชิ้นหนึ่งในประเทศแคนาดาที่ตีพิมพ์ในวารสาร Pain ให้ข้อมูลว่า คนที่เป็นโรคซึมเศร้ามีโอกาสมากกว่าถึงสี่เท่าเมื่อเทียบกับคนทั่วไป ที่จะรู้สึกถึงอาการปวดตึงอย่างมากที่บริเวณต้นคอและบั้นเอว โดยนพ.คราวิทซ์อธิบายว่า เวลาที่คุณอยู่ในภาวะจิตใจที่ไม่ปกติ คุณจะหมกมุ่นกับร่างกายตัวเองมากจนรู้สึกถึงความเจ็บปวดบางอย่างมากขึ้น

คุณยังอาจสังเกตถึงอาการปวดท้องหรือปวดหัว หรือแค่รู้สึกไวต่อความเจ็บปวดโดยทั่วไปอย่างมาก การศึกษาชิ้นหนึ่งเมื่อปี 2008 ใน Archives of General Psychiatry พบว่า เมื่อคนที่เป็นโรคซึมเศร้าสัมผัสถึงอาการเจ็บปวดอะไรก็ตาม สมองของพวกเขาจะจับได้แต่ความรู้สึก โดยที่ไม่สามารถจะรับมือกับมันได้

 

2 คุณน้ำหนักเพิ่มขึ้น

น้ำหนักส่วนเกินพวกนั้นมากจากไหนกันแน่ มันอาจมาจากการกินไอศครีมยามดึกเป็นประจำ หรือจากอาหารแช่แข็งที่คุณกิน เพราะไม่อยากออกไปซื้อของมากินหรือทำอาหารกิน ถึงแม้อาหารที่ทำให้รู้สึกสบายใจ จะเพิ่มระดับสารเคมีเซโรโทนินในสมองที่ทำให้รู้สึกได้ แต่เมื่อเวลาผ่านไปมันจะทำให้น้ำหนักเพิ่มขึ้น และรู้สึกผิดที่กินเยอะเกินไป และการกินก็ไม่สามารถแก้ไขสาเหตุที่ซ่อนลึกอยู่ข้างใน ซึ่งก็คือโรคซึมเศร้าได้เลย

การศึกษาชิ้นหนึ่งในวารสาร Obesity ยืนยันว่า ระดับความเครียดสูงๆ และโรคซึมเศร้าทำให้มันยากที่จะลดน้ำหนัก หรือยึดติดกับกลยุทธ์ในการลดน้ำหนักใดๆ ได้เลย แต่ในอีกด้านหนึ่ง ก็เป็นไปได้ว่า บางคนที่เป็นโรคซึมเศร้าอาจน้ำหนักลดลง เนื่องจากโรคซึมเศร้าทำให้ความอยากอาหารหมดไป

 

3 คุณฉุนเฉียวง่ายมาก

ถ้าเรื่องผิดพลาดแค่เล็กๆ น้อยๆ ก็ทำให้คุณเป็นฟืนเป็นไฟหรือหงุดหงิดไม่รู้จบ จนกลายเป็นเรื่องปกติไปซะแล้ว คุณก็อาจเป็นโรคซึมเศร้าก็ได้

ในการศึกษาเมื่อปี 2013 ที่ตีพิมพ์ในวารสาร JAMA Psychiatry 54% ของคนที่เป็นโรคซึมเศร้ารายงานถึงความรู้สึกหงุดหงิด โกรธเกรี้ยว ชอบโต้เถียง รู้สึกไม่เป็นมิตรกับคนอื่น หรือโมโหโกรธาอยู่บ่อยๆ โดย ไซมอน รีโก้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ทางด้านจิตวิทยาคลินิก และพฤติกรรมศาสตร์ ที่วิทยาลัยแพทย์ศาสตร์อัลเบิร์ต ไอสไตน์ชี้ว่า เมื่อคุณเริ่มมีอาการของโรคซึมเศร้า คุณจะเข้าสู่อารมณ์ในแง่ลบได้ง่ายขึ้นทั้งความหงุดหงิด รำคาญใจ และความโกรธ คุณอาจยังไม่เป็นโรคซึมเศร้าในทันทีก็ได้ แต่ก็โปรดรู้ไว้ว่ามันห่างกันไม่กี่ก้าวเท่านั้นเอง

 

4 คุณไม่รู้สึกอะไรเลย

ในทางกลับกัน คุณรู้สึกเฉื่อย เฉยชา ไร้ความรู้สึกใดๆ หรือเปล่า ส่วนใหญ่แล้ว คนเราจะมีแรงจูงใจที่ทำให้เราสามารถผลักดันให้ตัวเองลุกขึ้นจากที่นอนในตอนเช้า ไม่ว่าจะเพื่อไปทำงาน ไปออกกำลัง หรือไปพบปะผู้คนก็ตามที แต่สำหรับคนที่มีอาการซึมเศร้า พวกเขาจะรู้สึกว่าแรงจูงใจต่างๆ นั้นแห้งเหือด และสิ่งต่างๆ ที่เคยทำให้น้ำตาคลอหรือหัวเราะได้ ตอนนี้ก็แทบจะไม่มีเลย พฤติกรรมที่เหมือนผีดิบนี้เป็นตัวบ่งชี้สำคัญเลยของโรคซึมเศร้า และมันอาจทำให้คุณเย็นชา ห่างเหิน และผลักไสคนอื่นที่ให้ความรักและการสนับสนุนคุณให้ออกห่างไปเรื่อยๆ

 

5 คุณดื่มแอลกอฮฮล์มากขึ้น

ถ้าคุณเริ่มดื่มแอลกอฮอล์มากขึ้นทุกค่ำคืน มันอาจมีอะไรแอบแฝงอยู่มากกว่าความเครียดจากการทำงานธรรมดาๆ

โดยงานวิจัยแสดงว่าเกือบหนึ่งในสามของคนทีมีอาการของโรคซึมเศร้า มักมีปัญหาเรื่องการดื่มควบคู่กันไปด้วย และแม้ว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แก้วหนึ่งจะทำให้ผ่อนคลาย แต่ถ้าเริ่มเป็นแก้วที่สองสามสี่ มันกลับทำให้อารมณ์ในแง่ลบเพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นความวิตกกังวล ความหงุดหงิด ก้าวร้าว และเครียดอย่างมาก การดื่มแอลกอฮอล์ที่ถือว่ายังดีต่อสุขภาพตามมาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุขสหรัฐฯ ก็คือ หนึ่งแก้วต่อวันสำหรับผู้หญิง และสองแก้วสำหรับผู้ชาย

 

6 คุณติดเฟสบุ๊ค หรือการพนัน หรือการช้อปปิ้ง

โดยทั่วไปก็คือการทำอะไรก็ตามมากเกินไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางออนไลน์ การศึกษาหลายชิ้นยืนยันว่าคนที่เล่นอินเตอร์เน็ตแบบห้ามตัวเองไม่ได้ และมีปฏิสัมพันธ์กับโลกออนไลน์มากกว่ากับคนจริงๆ อาจเป็นโรคซึมเศร้าได้ พวกเขาอาจรู้สึกว่าขาดเพื่อนที่เป็นคนจริงๆ หรืออาจใช้โลกออนไลน์เป็นการหลบหนีจากความคิดและความรู้สึกของตัวเอง

ในขณะที่การเสพติดอินเตอร์เน็ตและโรคซึมเศร้าอาจเป็นคนละโรคกัน แต่บ่อยครั้งมันก็ซ้อนทับกันอยู่ นั่นคือทั้งสองอาการนี้ต่างใช้การแสวงหาความพึงพอใจชั่วครู่ชั่วยาม เป็นกลไกในการรับมือกับอาการของตัวเองเหมือนกัน

 

7 สมองคุณล่องลอย

หมู่นี้ชอบฝันกลางวันอยู่บ่อยๆ หรือเปล่า? ไม่ว่าจะเป็นฝันว่าได้เป็นดาราดัง ได้มีความรักหรือได้เที่ยวรอบโลก นักจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ในสหรัฐฯ พบว่าคนเราจะมีความสุขมากที่สุด เมื่อความคิดของเรามั่นคงอยู่กับช่วงเวลาปัจจุบัน แต่เมื่อความคิดของเราเริ่มล่องลอย มันสามารถทำให้เรารู้สึกโหยหา วิตกกังวล และไร้ความสุข ถึงแม้การฝันกลางวันนิดๆ หน่อยจะช่วยเราในเรื่องความคิดสร้างสรรค์ หรือการหาทางออกให้กับปัญหาบางอย่าง แต่ถ้าบ่อยเกินไป มันมักจะเชื่อมโยงกับอารมณ์ที่หดหู่

 

8 คุณตัดสินใจไม่ได้

คนเรามีเรื่องที่ต้องตัดสินใจมากมายในแต่ละวัน งานวิจัยจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบียแสดงให้เห็นว่า คนเราต้องตัดสินใจมากถึง 70 ครั้งในแต่ละวัน โดยส่วนใหญ่อาจเป็นเรื่องที่ไม่ต้องใช้สมองอะไรเลย จะตื่นหรือจะนอนต่อ จะแต่งตัวหรือจะนอนแช่อยู่ในชุดนอนดี จะกินข้าวต้มหรือจะกินขนมปัง จะอ่านหนังสือหรือจะดูทีวีดี เรื่องพวกนี้เป็นเรื่องที่เราต้องตัดสินใจทั้งนั้น แต่เมื่อเรามีอาการซึมเศร้า กระบวนการรับรู้และตัดสินใจในเรื่องเล็กๆ เหล่านี้กลับกลายเป็นเรื่องใหญ่ ที่ไม่สามารถตัดสินใจได้อย่างง่ายดายอีกต่อไป

 

9 คุณไม่ดูแลตัวเอง

ถึงแม้กิจวัตรการดูแลตัวเองของคุณอาจจะไม่ค่อยมากมายอยู่แล้ว แต่มันอาจหายไปหมดเลยก็ได้ถ้าคุณเป็นโรคซึมเศร้า

ในการสำรวจเมื่อปี 2014 ในกลุ่มคนมากกว่าหนึ่งหมื่นคน 61% ของคนที่มีสุขภาพในช่องปากแย่มากๆ มักเป็นโรคซึมเศร้าด้วย และถ้าพวกเขามีปัญหาสุขภาพในช่องปากมากแค่ไหน พวกเขาก็ยิ่งมีอาการซึมเศร้ารุนแรงมากเท่านั้น โดย ไซมอน รีโก้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ทางด้านจิตวิทยาคลินิก และพฤติกรรมศาสตร์ ที่วิทยาลัยแพทย์ศาสตร์อัลเบิร์ต ไอสไตน์ชี้ว่า การละเลยสุขภาวะทางร่างกายและรูปลักษณ์ของตัวเอง จะกลายเป็นปัญหาก็ต่อเมื่อมันข้ามเส้นไปจนถึงขั้นที่ไม่ยอมทำอะไรเลย หรือพูดได้ว่าการไม่สนใจใยดีต่อร่างกายภายนอกของตัวเอง เป็นสัญญาณที่ชัดเจนของปัญหาที่เกิดขึ้นภายในจิตใจของคุณนั่นเอง

, , ,

Leave a Reply

Your email address will not be published.