July 11, 2017 admin

6 อันตรายจากการซื้อยารับประทานเอง

เวลาเรามีอาการเจ็บป่วยไม่สบาย อาจจะมีบางครั้งที่เรารู้สึกว่าไม่สะดวกที่จะไปรับการตรวจ เปิดอ่านในอินเตอร์เน็ตแล้วซื้อยากินเองก็ได้ แต่เราควรทำแบบนั้นจริงๆ หรือ
วันนี้เราจะขอนำเสนอ 6 อันตรายที่เกิดขึ้นได้จากการซื้อยารับประทานเองกันครับ

1.วินิจฉัยไม่ถูกต้อง

การวินิจฉัยโรค จะต้องอาศัยประวัติ การตรวจร่างกาย และอาจจะมีการตรวจพิเศษอื่นๆ เพิ่มเติม ในกรณีที่เราวินิจฉัยตัวเราเอง เราก็จะรู้เพียงแต่ประวัติ ทำให้ข้อมูลที่จะนำไปสู่การวินิจฉัยนั้นไม่เพียงพอ ซึ่งเมื่อการวินิจฉัยไม่ถูกตั้งแต่แรกแล้ว การรักษาก็จะผิดและเกิดอันตรายขึ้นได้

2.กินยาไม่ครบ

การรักษาโรคแต่ละชนิดจะมีระยะในการรักษาที่ไม่เท่ากัน ยกตัวอย่างเช่นกระเพาะปัสสาวะอักเสบ หากเป็นครั้งแรกในคนปกติ ต้องกินยาเพียง 3 วัน แต่ในกรณีกระเพาะปัสสาวะอักเสบที่เป็นซ้ำ อาจจะต้องกินยานานขึ้นเป็น 7 วัน เป็นต้น การรู้ข้อมูลไม่ครบแล้วซื้อหายามาเอง ก็อาจทำให้กินยาไม่ครบ ซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดเชื้อดื้อยาได้

 

3.กินยาผิด ข้อมูลที่ได้มาล้าสมัย

บางคนพอจะทราบว่าตนเองป่วยเป็นโรคอะไร แต่ใช้วิธีค้นหาข้อมูลแล้วไปซื้อยากินเอง และอาจจะไปได้ข้อมูลเก่าที่ล้าสมัยไปแล้ว ทำให้ได้ยาที่ผิดจากที่ควรจะได้รับ กรณีที่เจอบ่อยๆ เช่น การรักษาโรคหนองใน ซึ่งมีการขายยาออนไลน์อย่างผิดกฎหมาย โดยขายยาสูตรที่เลิกใช้กันไปแล้ว 20 กว่าปี ทำให้เมื่อรักษาไปแล้ว เกิดเชื้อดื้อยาได้ง่ายขึ้นและไม่หายขาด การแพทย์มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ถ้าเราไม่ได้ติดตามต่อเนื่องอาจไม่ทราบข้อมูลครับ

 

 

4.แพ้ยา

ในกรณีที่เราเคยแพ้ยามาก่อน เราจะทราบชื่อยาที่เราแพ้ และอาจคิดว่าเพียงหลีกเลี่ยงการใช้ยาชนิดนั้นก็เพียงพอ แต่ในความเป็นจริงยาบางชนิดมีการแพ้ในกลุ่มเดียวกันได้ เช่น ในผู้แพ้เพนนิซิลิน อาจจะแพ้ยาอะม็อกซี่ซิลลินหรือไดคล๊อกซ่าซิลลินอันอยู่ในกลุ่มเดียวกันร่วมด้วย หรือในบางครั้งอาจจะมีโอกาสแพ้ยาข้ามกลุ่ม การซื้อยารับประทานเองโดยไม่มีความรู้ด้านนี้ จึงสามารถเกิดการแพ้ยาซ้ำได้

 

 

5.ไม่ทราบข้อห้ามในการใช้ยา

เวลาแพทย์สั่งยา นอกจากจะต้องดูข้อบ่งใช้ในการใช้ยาหน้านั้นแล้ว ยังจะต้องพิจารณาตัวผู้ป่วยว่า มีการใช้ยาชนิดใดหรือมีโรคชนิดใดที่เป็นข้อห้ามในการใช้ยานั้นหรือไม่ เช่น ในผู้ป่วยตับแข็ง ที่มีการทำงานของไตไม่ดี ยาแก้ปวดธรรมดาๆ บางชนิดเพียง 1-2 เม็ด ก็สามารถทำให้เกิดภาวะไตวายรุนแรงได้ หรือผู้ป่วยไตวายอาจจะต้องระมัดระวังยาปรับความดันบางตัวที่ขับออกทางไต หากเราเลือกใช้ยาโดยเปิดอ่านจากอินเตอร์เน็ตหรือหนังสือแบบไม่มีความรู้พื้นฐานมาก่อน ก็อาจเลือกซื้อยาที่มีผลเสียต่อตัวเรามาใช้ได้

 

 

6.การรักษาที่ไม่เหมาะสมอาจจะไปบดบังอาการ ทำให้ตรวจวินิจฉัยได้ล่าช้ากว่าที่ควร

การตรวจวินิจฉัยโรคของแพทย์ทำได้จากการที่ผู้ป่วยมีอาการ ประวัติ และผลการตรวจที่เข้าได้กับโรคนั้นๆ ซึ่งหากผู้ป่วยไปใช้ยาที่เปลี่ยนแปลงอาการเจ็บป่วยหรือผลการตรวจ ก็จะทำให้ การวินิจฉัยและรักษาที่ถูกต้องล่าช้าออกไป

การใช้ยามีแง่มุมที่ละเอียดอ่อน และการใช้ให้ถูกต้องมีความสำคัญต่อชีวิตและสุขภาพ จึงไม่ควรซื้อยากินเอง แต่ควรปรึกษาแพทย์ก่อนการใช้ยาทุกชนิดครับ

,

Leave a Reply

Your email address will not be published.